กลูตาไธโอนทำให้ขาวขึ้นจริงหรือ? : ตอนที่ 1

กลูตาไธโอนทำให้ขาวขึ้นจริงหรือ? ? ? ตอนที่ 1

สวัสดีค่ะสาวๆ

ในยุคนี้ใครๆก็พูดถึงกลูตาไธโอน โดยเฉพาะในแง่ของการช่วยให้ผิวขาวอมชมพู กระจ่าง สว่างใส มีออร่า

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ช่วยในเรื่องความขาวกระจ่างใสในท้องตลาดส่วนใหญ่จึงมักมี กลูตาไธโอนเป็นส่วนผสมอยู่

ทั้งในผลิตภัณฑ์กลุ่ม อาหารเสริม เครื่องสำอาง เช่น ครีมทาหน้า ครีมทาผิว สบู่ฟอกผิว เป็นต้น

หลายๆคนคงมีคำถามในใจว่า กลูตาไธโอน สารสำคัญยอดฮิตนั้นช่วยให้ขาวได้จริงๆหรือ?

วันนี้ Jaslyn จะมาตอบข้อสงสัยคาใจให้นะคะ

ขอเล่าก่อนว่า กลูตาไธโอน ไม่ใช่สารวิเศษจากไหนแต่อย่างใด เป็นสารที่มีอยู่ในร่างกายเราอยู่แล้ว และร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง พบอยู่ในเซลล์ต่างๆทั่วไปในร่างกายของเรา พบมากสุด ในเซลล์ตับ กลูตาไธโอน จัดว่าเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย กรดอะมิโน 3 ตัว คือ กลูตามิก (Glutamic) ซิสเตอีน (Cysteine) และ ไกลซีน (Glycine)

หน้าที่หลักของ กลูตาไธโอนในร่างกาย คือ ทำหน้าที่เป็นสาร Anti-oxidant ช่วยในการกำจัดสารพิษที่ตับ ส่วนกลไกเกี่ยวกับความขาวนั้น กลูตาไธโอนจะทำงานโดยการไปยับยั้ง เอนไซม์ไทโรซิเนส โดยตรงและโดยอ้อม ด้วย 3 กลไก คือ

  1. ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสโดยตรงโดยการไปจับบริเวณตำแหน่ง copper ซึ่ง เป็น active site ของเอนไซม์ ด้วยหมู่ Thiol
  2. ทำหน้าที่เป็น anti-oxidant เปลี่ยน eumelanin เป็น phaeomelanin
  3. รบกวนกระบวนการส่งเอนไซม์ไทโรซิเนสไปยัง premelanosomes

เอมไซม์ไทโรซิเนสเป็น Late limiting step ในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Late limiting step คือ ขั้นที่ช้าที่สุดของปฏิกิริยาเคมี เป็นขั้นที่จะกำหนดว่าปฏิกิริยาเคมีจะเกิดช้าหรือเร็ว) เอนไซม์ไทโรซิเนสจะทำหน้าที่เร่งปฎิกิริยาในการสร้างเม็ดสีเมลานิน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในกลุ่มที่ช่วยในเรื่องความขาว ลดฝ้ากระ จุดด่างดำ แทบทุกตัว สารสำคัญ จึงมีเป้าหมายหลักในการยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ไทโรซิเนส

เม็ดสีเมลานินที่ถูกสร้างออกมา จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. Eumelanin เม็ดสีเมลานินที่มีสีน้ำตาล/ดำ 2. Pheomelanin เม็ดสีเมลานินที่มีสีเหลือง/แดง

กลูตาไธโอนในรูปแบบทา ช่วยให้ขาวได้จริงหรือ?

ในปัจจุบันมีเครื่องสำอางมากมายที่มีส่วนผสมของกลูตาไธโอน เช่น ครีมทาหน้ากลูตาไธโอน ครีมล้างหน้ากลูตาไธโอน จากการทดลองในรูปแบบงานวิจัย ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology มีการทดลองในผู้หญิงฟิลิปปินส์ อายุ 30-50 ปี จำนวน 30 คน ทดลองโดยให้ทา ครีมที่มีส่วนผสมของกลูตาไธโอน ในรูป Oxidized 2% บริเวณใบหน้าด้านหนึ่ง และใบหน้าอีกด้านหนึ่งให้ทาครีมที่ไม่มีส่วนผสมของกลูตาไธโอน (placebo) วันละ 2 ครั้ง นาน 10 สัปดาห์ พบว่า หน้าด้านที่ทา ครีมกลูตาไธโอน 2% มีค่า melanin index ที่ต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับอีกด้านอย่างมีนัยสำคัญ, มีความชุ่มชื้นของผิวมากขึ้น, มีริ้วรอยที่ลดลง และ ผิวมีความเรียบเนียนมากขึ้น แต่ไม่สามารถสรุปกลไกการทำงานที่ชัดเจนได้ว่าทำไมการใช้ในรูปแบบทาถึงได้ผล

โดยส่วนตัวคิดว่างานวิจัยยังมีข้อด้อยตรงที่ไม่ได้ทำเปรียบเทียบกับ Anti-oxidant ตัวอื่นที่ไม่ได้มีผลในแง่ของ whitening การที่ melanin index ลดลงอาจจะเป็นผลจาก anti-oxidant effect ก็เป็นไปได้

แต่ถึงจะมีงานวิจัยอยู่บ้างก็จัดว่ามีหลักฐานค่อนข้างน้อย หากพิจารณาจาก โครงสร้างโมเลกุลของกลูตาไธโอนเองแล้วมีขนาดโมเลกุลค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากเป็นโปรตีนจึงน่าจะไม่สามารถซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า กลูตาไธโอนในรูปแบบทา สามารถลดฝ้า กระ จุดด่างดำได้ค่ะ

หากจะใช้ครีมที่มีส่วนผสมของกลูตาไธโอน ก็ต้องใช้ที่มีปริมาณสาร 2 % ขึ้นไป (% ต่ำกว่านี้ก็อาจจะไม่มีผลอะไรเลย) และต้องอยู่ในรูป Oxidize ด้วย เพราะในรูป Reduced กลูตาไธโอนไม่คงสภาพ เมื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง
ซึ่งรายละเอียดขนาดนี้ยากไปสำหรับผู้บริโภคในการจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพค่ะ เพราะว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตส่วนใหญ่เค้าไม่ได้บอกเราว่าใส่กี่ % และใช้ในรูปแบบไหนค่ะ

อ่านต่อ

ตอนที่ 2 : กลูตาไธโอนทำให้ขาวขึ้นจริงหรือ? : ตอนที่ 2
ตอนที่ 3 : กลูตาไธโอนทำให้ขาวขึ้นจริงหรือ? : ตอนที่ 3 (จบ)

อ้างอิง

  1. Watanabe F, Hashizume E, Chan GP, Kamimura A.Skin-whitening and skin-condition-improving effects of topical oxidized glutathione: a double-blind and placebo-controlled clinical trial in healthy women.Clin Cosmet Investig Dermatol. 2014 Oct 17;7:267-74.
  2. Sidharth Sonthalia, Deepashree Daulatabad, Rashmi Sarkar. Glutathione as a skin whitening agent: Facts, myths, evidence and controversies.indian journal of dermatology venereology and leprology, 2016, Volume: 82. Issue: 3. Page: 262-272.

ผิวขวา-ผิวดำ

เพิ่มเพื่อน
Share this: