กลูตาไธโอนทำให้ขาวขึ้นจริงหรือ? : ตอนที่ 3 (จบ)

สวัสดีค่ะสาวๆ

กลูตาไธโอนทำให้ขาวขึ้น จริงหรือ ? ? ? ตอนที่ 3 (จบ)

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมาจนถึงตอนที่ 3 นะคะ สาวๆ

กลูตาไธโอนฉีดแล้วขาวจริงหรือ?

ในปัจจุบันการฉีดกลูตาไธโอนเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อมุ่งหวังความขาวกระจ่างใส ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั้งในไทยและต่างประเทศค่ะ รวมทั้งยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยากับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัย และยังพบว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายละผลข้างเคียงอื่นๆ อีกด้วยค่ะ

มีคำเตือนเกี่ยวกับการฉีดกลูตาไธโอนเข้าสู่เส้นเลือดดำ จาก องค์การอาหารและยาประเทศฟิลิปปินส์ (The Food and Drug Administration of Philippines) ในการใช้เพื่อจุดประสงค์ทำให้ผิวขาว (จัดเป็นการใช้แบบ Off –label use คือ ไม่ได้ใช้ตามข้อบ่งใช้ที่ระบุไว้ในฉลาก หรือขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.) มีใจความว่า การใช้กลูตาไธโอนในรูปแบบฉีดเข้าสู่เส้นเลือดดำเพื่อความขาว ยังไม่ได้รับการรับรอง และไม่ปลอดภัย อาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้ใช้ และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้กลูตาไธโอนแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ที่ขนาดสูง คือ 600-1200 mg ความถี่ 1 – 2 ครั้ง/สัปดาห์ รูปแบบที่รับรองมีเฉพาะการฉีดเพื่อเป็นการรักษาเสริม ใช้ในการลดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาท (Neurotoxicity) จากการให้ยา Cisplatin ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเท่านั้น

อาการข้างเคียงของการฉีดกลูตาไธโอน

  1. ผื่นแพ้ผิวหนังทั่วไป
  2. SJS (Stevens-Johnson syndrome) คือ ผื่นแพ้ผิวหนังอย่างรุนแรงที่อาจจะทำให้เสียชีวิตได้
  3. TEN (Toxic epidermal necrolysis) คือ อาการแพ้ยาที่รุนแรงมีผลต่อผิวหนังและเยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่างๆ
  4. ทำให้การทำงานของไทรอยด์ผิดปกติ
  5. ไตทำงานผิดปกติ นำไปสู่ การเกิดไตวายได้ หากฉีดเกินขนาด
  6. ปวดท้องรุนแรง
  7. การติดเชื้อ (จากการฉีดที่ใช้เทคนิคไม่ถูกต้อง ไม่เชี่ยวชาญ สถานที่ฉีดไม่สะอาดและปลอดภัยเพียงพอ)
  8. อาจจะทำให้เม็ดสีที่จอตาจางลง
  9. อาจจะทำให้สีผมจางลง
  10. อาจจะทำให้เกิดด่างขาวบางจุด
  11. ทำให้การสร้างกลูตาไธโอนตามธรรมชาติลดลง

การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกลูตาไธโอนตามธรรมชาติจึงเป็นวิธีที่ดี และปลอดภัยที่สุดค่ะ การรับประทานอาหารบางชนิดสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกลูตาไธโอนได้เพิ่มขึ้นค่ะ

  1. อาหารที่มีกำมะถันอยู่เยอะ เช่น บล็อคโคลี, กะหล่ำ, บีทรูท, ถั่ว, หัวหอม
  2. เวย์โปรตีน
  3. วิตามิน B6, B9, B12 และไบโอติน
  4. อาหารที่มี เซเลเนียม อยู่เยอะ เช่น ตับ ไข่ ผักโขม
  5. อาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินอี สูง
  6. กรดอะมิโนบางชนิด เช่น เอ็น-อะซีทิลซิสเทอีน
  7. อัลฟาไลโปอิกแอซิด

นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอก็สามารถเพิ่มระดับกลูตาไธโอนได้เช่นกันค่ะ

ก่อนหน้า

ตอนที่ 1 : กลูตาไธโอนทำให้ขาวขึ้นจริงหรือ? : ตอนที่ 1
ตอนที่ 2 : กลูตาไธโอนทำให้ขาวขึ้นจริงหรือ? : ตอนที่ 2

อ้างอิง

  1. Sidharth Sonthalia, Deepashree Daulatabad, Rashmi Sarkar. Glutathione as a skin whitening agent: Facts, myths, evidence and controversies.indian journal of dermatology venereology and leprology, 2016, Volume: 82. Issue: 3. Page: 262-272.
  2. Dr.Axe, 9 Ways to Boost Glutathione. Food is Medicine.

ผิวขาว, กลูต้าไทโอน, Glutathione

เพิ่มเพื่อน
Share this: