สารสกัดชาเขียว กับคุณค่าแห่งการปกป้องผิว
นักวิทยาศาสตร์ต่างค้นคว้าวิจัย เพื่อหาสารสกัดจากพืชนานาชนิดมาใช้ในการบำรุงผิวและปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระที่ถูกกระตุ้นจากแสงแดด สารสกัดชาเขียว เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์ต่อผิวเมื่อนำมาใช้ในรูปแบบทา มีการศึกษาวิจัยมากมายกว่า 150 ชิ้น ทั้งในหลอดทดลอง และสิ่งมีชิวิต ที่พบว่าสารสกัดชาเขียวในรูปแบบทามีคุณประโยชน์ต่อผิว เช่น Anti-oxidant, ช่วยชะลอวัย, ลดการอักเสบ, ช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี, ลดการเกิดมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นด้วยแสงแดด
ในเอเชียมีการปลูกชามายาวนานนับพันปี ประชากร 2 ใน 3 ของโลกนิยมบริโภคชา พบว่า 78% ของผู้บริโภค นิยมบริโภคชาดำ 20% ของผู้บริโภค นิยมบริโภคชาเขียว
ชาเขียว มีการปลูกและนิยมบริโภคมากที่สุด ในประเทศจีนและญี่ปุ่น กระบวนการผลิตชาเขียวเกิดจากการนำยอดใบชามาให้ความร้อนระยะสั้นๆ โดยปราศจากหมัก และใส่สารเติมแต่งใดๆ การให้ความร้อนสั้นๆนี้จะหยุดการทำงานของเอนไซม์ Polyphenol Oxidase ทำให้สามารถคงคุณค่าในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) ของสารกลุ่มโพลีฟีนอลในใบชาเขียวไว้ได้
สารสกัดชาเขียว จะประกอบด้วยสารในกลุ่มโพลีฟีนอล 4 ชนิด เป็นหลัก คือ
- (-)-epicatechin (EC)
- EGC
- (-)-EC-3-gallate
- EGCG
โดยพบว่า กลุ่มที่มี gallate group คือ (-)-EC-3-gallate และ EGCG เป็นสารโพลีฟีนอลที่มีประสิทธิภาพ มีฤทธิ์ Anti-oxidant ที่แรง
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับสารสกัดชาเขียว
จากสถิติพบว่า ผู้ที่นิยมบริโภคชาเขียวในจีน และญี่ปุ่น มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งที่ต่ำกว่าประชากรที่ไม่นิยมบริโภคชาเขียว สอดคล้องกับสถิติที่พบว่า ในประเทศจีนมีการสูบบุหรี่หนัก แต่กลับพบอัตราการเกิดมะเร็งบางชนิดที่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา รวมถึงสถิติในประเทศญี่ปุ่นก็คล้ายคลึงกัน จากสถิติเหล่านี้จึงมีการคาดเดากันว่า สารสกัดชาเขียว อาจจะมีผลในการต้านอนุมูลอิสระ และลดโอกาสในการเกิดมะเร็ง จึงนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับสารสกัดชาเขียวในแง่มุมต่างๆ
เราลองมาดูประสิทธิภาพของสารสกัดชาเขียวต่อผิวหนังกันดูบ้างนะคะ
มีการศึกษาทดลองให้สารสกัดชาเขียว (Green Tea Polyphenol) ในรูปแบบรับประทานกับหนูพบว่า มีประสิทธิภาพในการปกป้องผิว แต่เมื่อทำการทดลองคล้ายๆกันในมนุษย์ กลับไม่พบประสิทธิภาพดี เหมือนในหนู ซึ่งสันนิษฐานว่า ผิวหนังของมนุษย์มี Barrier ที่หนาและแข็งแรงกว่าหนู จึงทำให้การดูดซึมสารสกัดจากเส้นเลือดสู่ผิวหนังเกิดขึ้นได้ไม่ดี ในทางกลับกัน เนื่องจากหนูมี Barrier ของผิวหนังที่บางกว่ามนุษย์ การศึกษาทดลองในหนูพบว่า เมื่อทดลองให้หนูทาขี้ผึ้งที่มีสารสกัด EGCG ในชาเขียว เข้มข้น 10% (10% EGCG in hydrophilic ointment United States Pharmacopeia) พบว่าหนูเกิดผื่นแดง ระคายเคือง แต่เมื่อทำการทดลองในมนุษย์พบว่าไม่เกิดอาการข้างเคียงใดๆ ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า การใช้สารสกัดชาเขียวในรูปแบบทา (Topical) มีประสิทธิภาพมากกว่าการให้ในรูปแบบรับประทาน
ประสิทธิภาพของสารสกัดชาเขียวรูปแบบทา ในการปกป้องผิวจากรังสียูวี ชะลอริ้วรอยแห่งวัย และฟื้นบำรุงผิว
มีการศึกษาโดย ทดลองทา EGCG ซึ่งเป็นสารโพลีฟีนอลในสารสกัดชาเขียว ปริมาณ 3 mg/2.5 cm2 ก่อนให้ผิวหนังสัมผัสกับรังสียูวีบี พบว่า สารสกัด EGCG สามารถลดการเกิดผื่นแดง และลดการเคลื่อนตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาว (leukocyte) ออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อ (เป็นปฎิกิริยาที่บ่งบอกถึงการอักเสบ) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ การให้ทาสารสกัดชาเขียว 0.2 mg/cm2 ที่ผิวหนังก่อน 30 นาที หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ได้รับการรักษาโดยใช้ ซอราเลน (Psoralen) ร่วมกับการให้ รังสียูวีเอ พบว่าสารสกัดชาเขียวในรูปแบบทาสามารถลดการเกิดผื่นแดง และยับยั้งการถูกทำลายของ DNA ที่ผิวหนังได้ ซึ่งจะเป็นอาการข้างเคียงที่เกิดการการใช้ ซอราเลน ร่วมกับ รังสียูวีเอ
พบว่า EGCG สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของ AP-1 ที่เกิดจากการกระตุ้นของรังสียูวีบีได้ ซึ่ง AP-1 นี้เป็นส่วนหนึ่งของทรานสคริปชันแฟคเตอร์ใน MAPK Pathways (วิถีไมโทเจน-แอคทิเวเทตโปรตีนไคเนส) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ตอบสนองต่อการกระตุ้นของสิ่งเร้าภายนอก ทำหน้าที่ควบคุมการทํางานของเซลล์ในหน้าที่หลักต่างๆ ได้แก่ การกลายชนิดของเซลล์(differentiation) การเพิ่มจํานวนเซลล์ (proliferation) และการตายของเซลล์(cell death) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 สายปฏิกิริยา คือ JNKs, ERKs, p38 และ ERK5
พบว่าเมื่อผิวชั้นบนถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวีบี จะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของการส่งสัญญาณวิถีไมโทเจน-แอคทิเวเทตโปรตีนไคเนส กลุ่ม p38 ซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ การแบ่งตัว การกลายชนิดของเซลล์ และการตายของเซลล์ มีการศึกษาพบว่า EGCG สามารถยับยั้ง c-Fos factor ที่เกี่ยวข้องกับ p38 ได้ และส่งผลให้เกิดการตายของเซลล์ที่ลดลง
นอกจากนี้ยังพบว่า EGCG ยังสามารถยับยั้ง อนุมูลอิสระ H2O2 ที่เกิดจากการกระตุ้นของยูวีบีได้ด้วย
ดังนั้น จึงคาดว่าการใช้สารสกัดชาเขียวในรูปแบบทา จึงมีผลดีต่อผิวในการปกป้องผิวจากแสงแดด และน่าจะมีผลดีในการป้องกันมะเร็งผิวหนังที่ถูกกระตุ้นโดยแสงแดด (Photocarcinogenesis)
อย่างที่ได้อธิบายไว้ในตอนต้นนะคะ เนื่องจากสารสกัดชาเขียวในรูปแบบทาบนผิวหนัง สามารถปกป้องผิวจากการถูกทำร้ายด้วยรังสียูวีได้ ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า แสงแดด เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดริ้วรอยแห่งวัย ที่เรียกว่า Photoaging ดังนั้น การใช้สารสกัดชาเขียวในรูปแบบทา จึงสามารถลดการเกิดความเหี่ยว และความหยาบกร้านของผิวอันเกิดมาจากการถูกทำร้ายของแสงแดดได้ด้วยค่ะ นอกจากนี้ยังพบว่าจากการทดลองในเซลล์ไฟโบบลาส สารสกัดชาเขียว ยังสามารถยับยั้ง Collagenese ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการเสื่อมสลายของคอลลาเจนในชั้นผิวหนังได้ด้วยค่ะ
จากการศึกษาทดลองต่างๆ พบว่าสารสกัดชาเขียวในรูปแบบทา มีผลดีต่อการฟื้นฟูบาดแผล เนื่องจากพบว่า สารสกัดชาเขียวมีผลต่อเซลล์ Keratinocyte ของผิว ในแง่การยืดอายุของเซลล์, สามารถกระตุ้นเซลล์ที่มีอายุมาก และ ลดการตายของเซลล์จากการถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวีได้ค่ะ (ลดการเกิด Apoptosis)
ด้วยคุณประโยชน์ที่มากมายต่อผิว Jaslyn Age Defense จึงเลือกสรรค์ให้สารสกัดชาเขียว เป็นหนึ่งในตัวช่วยของสาวๆ ในการปกป้อง ฟื้นบำรุงผิว และชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยค่ะ
อ้างอิง
- Reviews เรื่อง Green tea and the skin โดย Stephen Hsu, PhD และ Augusta, G eorgia ตีพิมพ์ในวารสาร
- Reviews เรื่อง Green tea polyphenolic antioxidants and skin photoprotection โดย Santosh K. Kattiya และ Craig A. Elmets ตีพิมพ์ในวารสาร INTERNATIONAL JOURNAL OF ONCOLOGY 18: 1307-1313, 2001
- Clinical Trials เรื่อง Green Tea Polyphenol Treatment to Human Skin Prevents Formation of Ultraviolet Light B-induced Pyrimidine Dimers in DNA โดย Santosh K. Katiyar และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร American Association for Cancer Research Volume 6, Issue 10, pp. 3864-3869
- Clinical Research เรื่อง Dual mechanisms of green tea extract (EGCG)-induced cell survival in human epidermal keratinocytes. โดย Chung JH และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร FASEB J. 2003 Oct;17(13):1913-5. Epub 2003 Aug 1.
Share this: