Aloe vera กับการฟื้นบำรุง และรีเฟรชผิวให้ชุ่มชื้นฉ่ำน้ำ

Aloe vera (Aloe barbadensis Miller) หรือ ว่านหางจระเข้ เป็นพืชอวบน้ำ ผิวใบหนา เซลล์เนื้อเยื่อภายในใบมีการปรับตัวให้เก็บกักน้ำไว้ได้มาก เพื่อเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง หรือช่วงที่ขาดแคลนน้ำ โดยตรงกลาง ส่วนในสุดจะมีลักษณะเป็นเจลใส นุ่ม ลื่น ชุ่มชื้น ฉ่ำน้ำ เมื่อนำส่วนเจลของว่านหางจระเข้ มาแยกหาสารสำคัญที่มีประโยชน์ และสามารถออกฤทธิ์ได้ พบว่ามีจำนวนมากถึง 75 ชนิด โดยพบว่าส่วนเจล มีน้ำเป็นองค์ประกอบถึงประมาณ 99.5% ส่วนที่เหลือ ประมาณ 0.5 – 1% จะเป็น วิตามิน, แร่ธาตุ, กรดอะมิโน, เอนไซม์, โพลีแซคคาไรด์, ฟีนอลิค, กรดออร์แกนิค ฯลฯ

เจลว่านหางจระเข้ Aloe vera

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่านหางจระเข้ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคในหลายชนชาติยาวนานหลายร้อยปี พบว่าสารสำคัญในว่านหางจระเข้ที่มีความสัมพันธ์กับการนำใช้รักษาโรคมากที่สุดตัวหนึ่งได้แก่ Polysaccharide (โพลีแซคคาไรด์) เชื่อว่าฤทธิ์ในการรักษานั้นเกิดจากการเสริมฤทธิ์ร่วมสารสำคัญอื่นในว่านหางจระเข้ด้วย ดังนั้น การนำว่านหางจระเข้มาใช้จึงไม่ได้สกัดมาเป็นสารสำคัญตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียว แต่ใช้ในรูปแบบเจลที่มีสารสำคัญ วิตามิน แร่ธาตุ หลายชนิดรวมกันอยู่ เพราะให้ผลดีกว่าเนื่องจากสารสำคัญหลายชนิดจะช่วยเสริมฤทธิ์กันในการรักษา

เจลว่านหางจระเข้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นส่วนประกอบของอาหาร, เครื่องดื่ม, ยารักษาโรค รวมถึงในเครื่องสำอาง เช่น เป็นส่วนประกอบของเจลเบส, ครีมเบส, โลชั่น, สบู่, แชมพู, โฟมล้างหน้า, มาสก์หน้า และอีกมากมาย

 

เราจะมาเล่าถึงการนำเจลว่านหางจระเข้ไปใช้ประโยชน์ กับผิวหนังโดยตรงกันบ้างดีกว่าค่ะ

 

เจลว่านหางจระเข้ กับ คุณสมบัติรักษาแผล (Wound Healing Effect)

มีหลายการศึกษาที่พบว่า การใช้เจลว่านหางจระเข้ทาบริเวณรอยแผล สามารถกระตุ้นให้เกิดการรักษาและฟื้นฟูแผลที่ดีขึ้น โดยน่าจะเป็นผลจากหลายกลไก ได้แก่ การรักษาความชุ่มชื้นบริเวณแผล, การเพิ่ม epithelial cell migration, กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และลดการอักเสบ มีการศึกษาที่แยกเฉพาะ ไกลโคโปรตีน ขนาดโมเลกุล 5.5 kDa ในว่านหางจระเข้ออกมา พบว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดการ migration ของเซลล์ และเพิ่มอัตราเร็วในการรักษาแผล ในเซลล์ Keratinocyte ของมนุษย์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองในหนู ซึ่งพบว่าไกลโคโปรตีนจากว่านหางจระเข้ สามารถกระตุ้นการรักษาแผลได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าสาร Veracylglucan B ในว่านหางจระเข้ ยังมีคุณสมบัติกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ และยับยั้งการอักเสบ (Anti-inflammatory) จึงส่งผลดีต่อการกระตุ้นฟื้นฟูแผล

เจลว่านหางจระเข้ กับคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นผิว (Skin Hydrating Effect)

ในว่านหางจระเข้มีนั้นอุดมไปด้วยสารโพลีแซคคาไรด์ที่มีประโยชน์ต่อผิว จึงมักพบสารสกัดว่านหางจระเข้ เป็นส่วนประกอบหนึ่งในเครื่องสำอางดูแลผิว มีการทดลองให้อาสาสมัครผู้หญิง จำนวน 20 คน ทดลองทาเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบสารสกัดว่านหางจระเข้ (Freeze-dried Aloe vere extract) ความเข้มข้นต่างๆกัน คือ 0.1%, 0.25% และ 0.5% บริเวณใต้ท้องแขน พบว่าที่ความเข้มข้น 0.25% และ 0.5% สามารถเพิ่มน้ำในชั้น Stratum corneum ได้หลังจากการทาเพียงครั้งเดียว และเมื่อทาวันละ 2 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดว่านหางจระเข้ทุกความเข้มข้นสามารถเพิ่มน้ำในชั้น Stratum corneum ได้ โดยเชื่อว่าการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวของสารสกัดว่านหางจระเข้ เกิดผ่านคุณสมบัติในการเป็น Humectant คือ ดึงดูดโมเลกุลน้ำเข้าสู่ผิว ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาใหม่ๆที่พบว่า เจลว่านหางจระเข้สามารถช่วยเพิ่ม Skin Penetration ได้ด้วยค่ะ

อ้างอิง

  1. งานวิจัย เรื่อง Moisturizing effect of cosmetic formulations containing Aloe vera extract in different concentrations assessed by skin bioengineering techniques โดย Susi Elaine Dal’Belo และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Skin Research & Technology. Volume 12, Issue 4, November 2006 : Pages 241–246.
  2. REVIEW ARTICLE เรื่อง Aloe vera: a systematic review of its clinical effectiveness โดย B K VOGLER และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of General Practice, October 1999
  3. Review Article เรื่อง Composition and Applications of Aloe vera Leaf Gel โดย Josias H. Hamman ตีพิมพ์ในวารสาร Molecules 2008, 13(8), 1599-1616
  4. งานวิจัย เรื่อง Effect of Aloe Vera Gel to Healing of Burn Wound a Clinical and Histologic Study โดย VIVAT VISUTHIKOSOL และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร J Med Assoc Thai August 1995
  5. งานวิจัยเรื่อง The Effect of Aloe Vera Gel/Mild Soap Versus Mild Soap Alone in Preventing Skin Reactions in Patients Undergoing Radiation Therapy. โดย Olsen ตีพิมพ์ในวารสาร Oncology Nursing Forum . Apr2001, Vol. 28 Issue 3, p543-547.
เพิ่มเพื่อน
Share this: