กรดไหลย้อน เรื่องเล็กที่ อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่

โรคกรดไหลย้อน มีสาเหตุจากกรดในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาผ่านหูรูดหลอดอาหาร แล้วไปทำให้อวัยวะอื่นๆนอกทางเดินอาหารได้รับความเสียหาย เช่น เยื่อบุหลอดอาหาร (หูรูดนี้จะอยู่ระหว่างกระเพาะอาหาร กับหลอดอาหารคอยกั้นไม่ให้กรดในกระเพาะอาหาร หรือ อาหารต่างๆไหลย้อนขึ้นไป)

อันตรายไหม  ถ้าเป็นกรดไหลย้อน?

หากปล่อยไว้นานๆ จนเป็นเรื้อรัง อาจนำไปสู่ การเกิดหลอดอาหารอักเสบ เป็นแผล ตีบ หรือพัฒนารุนแรงจนกลายโรคมะเร็งที่หลอดอาหารได้ค่ะ

ทำไมจึงเกิดกรดไหลย้อน?

  1. กล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายเกิดการทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการคลายตัวชั่วคราว จนทำให้กรดไกลย้อนขึ้นไป
  2. ความดันของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายต่ำกว่าปกติ
  3. หลอดอาหารเกิดการบีบตัวผิดปกติ โดยปกติแล้ว ร่างกายจะมีกลไกอย่างหนึ่ง เรียกว่า Peristalsis ซึ่งจะบีบไล่อาหารและกรดลงสู่ทางเดินอาหารส่วนล่าง หากมีกลไกนี้น้อยกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
  4. กระเพาะอาหารมีการยืดตัวมากกว่าปกติ ทำให้ไล่อาหารออกจากกระเพาะอาหารได้ช้า และกระตุ้นให้หูรูดเกิดการคลายตัว กรดจึงไหลย้อนขึ้นไปสู่หลอดอาหาร
  5. เกิดชั้นของกรดลอยอยู่เหนืออาหารในกระเพาะอาหาร หลังรับประทานอาหารไป บริเวณนี้จะมีความเป็นกรดมากกว่าปกติ เรียกว่า acid pocket ในคนทั่วไปจะเป็นชั้นฟิล์มที่มีความหนา 2 cm แต่ในคนที่เป็นกรดไหลย้อนจะหนากว่าปกติ มีความหนาของชั้นฟิล์ม 4-6 cm
  6. มีบางส่วนของกระเพาะอาหารอยู่เหนือกระบังลม ทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น

อาการที่พบบ่อย

  1. แสบร้อนกลางอก และลิ้นปี่
  2. เรอเหม็นเปรี้ยว, รู้สึกขมคอ
  3. รู้สึกกลืนลำบาก เหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ
  4. เจ็บคอ แสบลิ้น เสียงแสบ เรื้อรังในตอนเช้า
  5. ไอเรื้อรัง
  6. รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก เหมือนอาหารไม่ย่อย
  7. เรอบ่อยๆ, คลื่นไส้
  8. มีกลิ่นปาก ฟันผุ

ปฎิบัติอย่างไร เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน

ข้อนี้สำคัญมากๆ ไม่แพ้การกินยา เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน คือ “การปรับพฤติกรรม” โดยส่วนตัวจะบอกผู้ป่วยเสมอว่า หากไม่ปรับพฤติกรรมร่วมด้วย ยังไงก็จะไม่หายขาดแน่นอนค่ะ!!! เพราะ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรานี่แหละ คือ ต้นเหตุ เลย

มีเคสเกี่ยวกับโรคไหลย้อน เคสหนึ่ง ได้จ่ายยา ร่วมกับ แนะนำการปรับพฤติกรรมไป ผ่านไปอีกหลายเดือน เจอกันอีกทีเค้าบอกว่าอาการดีขึ้นมาก ไม่ได้กินยานานแล้วตั้งแต่ไปลองไปปรับพฤติกรรมดู และกินยาต่อเนื่องจนครบตามแนวทางการรักษา กรณีนี้ ต้องบอกว่า เภสัชดีใจมากค่ะที่เค้ารับฟัง นำไปใช้ จนหายในที่สุด

  1. รับประทานอาหารแค่พออิ่ม ไม่มากเกินไป
  2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ และ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
  3. งดสูบบุหรี่
  4. หลีกเลี่ยงอาหารมันๆ ทอดๆ
  5. หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด และเครื่องเทศบางชนิด เช่น หอม กระเทียม (กินให้น้อยลง)
  6. หลีกเลี่ยงผลไม้รสเปรี้ยวจัด ของหมักดอง
  7. รับประทานอาหารให้เสร็จก่อนนอน อย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  8. ไม่ควรนอน หรือออกกำลังกายหลังรับประทานอาหาร
  9. นอนตะแคงซ้าย เพื่อให้กระเพาะอยู่ต่ำกว่าหลอดอาหาร
  10. นอนศรีษะสูง โดยการหนุนขาเตียงให้สูงขึ้น
  11. ออกกำลังสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก เพื่อลดความดันในช่องท้อง ในคนที่มีโรคอ้วน

ยาที่ใช้ในการรักษาเบื้องต้น

จะเป็นกลุ่มยาลดกรด มีทั้งรูปแบบเม็ด และน้ำ, รวมถึงอาจจะใช้ยากลุ่มอื่นร่วมด้วย เพื่อเสริมประสิทธิภาพ เช่น ยากลุ่ม Proton Pump Inhibitor (PPI) เช่น Omeprazole, Esomeprazole, Lansoprazole ระยะเวลา ในการรักษาจะอยู่ที่ 4-8 เดือน

ส่วนของยาจะไม่ลงรายละเอียดมาก แนะนำไปปรึกษากับแพทย์ และเภสัชกรใกล้บ้านท่านนะคะ เพื่อการได้รับคำแนะนำที่ละเอียดครบถ้วน มีอะไรสงสัยถามไปเยอะๆเลยค่ะ อย่าเกร็ง ยิ่งเล่าเยอะ ยิ่งดีค่ะ การรักษาจะแม่นยำยิ่งขึ้น

อ้างอิง

  1. สไลด์ Pathophysiology of GERD and GERD spectrum Diagnosis and treatment โดย น.พ. สยาม ศิรินธรปัญญา
  2. http://www.webmd.com/heartburn-gerd/guide/reflux-disease-gerd-1
  3. ACG Clinical Guidelines

กรดไหลย้อน, GERD

เพิ่มเพื่อน
Share this: