กาแฟ กับ ความดันโลหิตสูง
กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในบรรดาเครื่องดื่มทั้งหลาย ทั้งในกลุ่มนักศึกษา วัยผู้ใหญ่ หรือในผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนวัยทำงาน ชาวออฟฟิศ เรียกว่าเป็นของคู่กันเลยทีเดียว วันไหนขาดกาแฟแล้วเหมือนจะขาดใจกันเลยค่ะ
วันนี้ เราก็จะมาคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของกาแฟ ในแง่มุมของผลกระทบของกาแฟต่อภาวะความดันโลหิตสูง
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในกาแฟ จะมีสารที่ชื่อว่า คาเฟอีน เป็นองค์ประกอบ สารตัวนี้ถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วภายใน 45 นาที และระดับของคาเฟอีนในเลือดก็สามารถเพิ่มขึ้นได้ ภายใน 15-20 นาที หลังดื่ม และถูกขับออกทางปัสสาวะ
จะขอยกงานวิจัยใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ ฤทธิ์ของกาแฟ, ยาลดความดันโลหิต Felodipine และผลต่อค่าความดันโลหิต มาเล่าให้ฟังค่ะ
Coffee-Antihypertensive Drug Interaction: A Hemodynamic and Pharmacokinetic Study With Felodipine.
โดย Bailey DG และคณะ ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการ American Journal of Hypertension. 2016 Aug 1
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาแบบ randomized, single-dose, crossover study โดยศึกษาผลของ Hemodynamic และPharmacokinetic โดยติดตามเป็นระยะเวลา 2 วัน ที่อาสาสมัครไม่ได้รับกาแฟ หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน หลังจากนั้นทำการศึกษาโดยให้อาสาสมัครได้รับกาแฟดำ จำนวน 2 แก้ว ขนาดแก้วละ 300 มิลลิลิตร ร่วมกับ Felodipine ขนาดสูงสุด 10 มิลลิกรัม (งานวิจัยนี้ทำการศึกษาในอาสาสมัครวัยกลางคนความดันปกติ)
ผลการศึกษาพบว่า หลังจากได้รับกาแฟค่าความดันโดยเฉลี่ยของอาสาสมัครมีการเปลี่ยนแปลง โดยพบว่า
- Brachial systolic มีค่าความดันที่เพิ่มขึ้น 7.6 มิลลิเมตรปรอท (p < 0.001)
- Diastolic มีค่าความดันที่เพิ่มขึ้น 9 มิลลิเมตรปรอท (P < 0.001)
- Aortic systolic มีค่าความดันที่เพิ่มขึ้น 4 มิลลิเมตรปรอท (P < 0.001)
- Pulse (ชีพจร) เพิ่มขึ้น 3.0 ครั้ง/นาที (P < 0.05)
- Augmentation เพิ่มขึ้น 1.4 (P < 0.05)
เมื่อเปรียบเทียบกับค่าที่วัดตอนเริ่มต้น (Base line)
หลังจากนั้นทดลองให้อาสาสมัครได้รับกาแฟ ร่วมกับยา Felodipine ซึ่งเป็นยาลดความดันตัวหนึ่ง พบว่าค่าความดัน Brachial systolic เพิ่มขึ้น 4.0 มิลลิเมตรปรอท (P < 0.05), ค่าความดัน Diastolic เพิ่มขึ้น 3.9 มิลลิเมตรปรอท (P < 0.001) และค่าความดัน Aortic systolic เพิ่มขึ้น 4.6 มิลลิเมตรปรอท (P < 0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับยา Felodipine เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังพบว่า ผลของระดับความดันโลหิตกับการได้รับกาแฟ ร่วมกับยา Felodipine มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และกาแฟที่มีระดับคาเฟอีน 127 มิลลิกรัม จะส่งผลต่อระดับความดันโลหิตได้มากที่สุด
Phramacokinetics ของคาเฟอีน กับยา Felodipine มีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะได้รับกาแฟเพียงอย่างเดียว, ยาเพียงอย่างเดียว หรือได้รับยาและกาแฟร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอันตรกิริยาต่อกันระหว่างยา และกาแฟในแง่ Pharmacodynamics ได้ และพบว่า การได้รับกาแฟส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับความดัน Diastolic เพิ่มขึ้น ในขณะที่ได้รับยา Felodipine ร่วมด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลข้างเคียงของยาได้ ในช่วงที่ไม่ได้รับกาแฟ
อธิบายยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในกรณีที่อาจเป็นไปได้ เช่น นาย A เป็นโรคความดันโลหิตสูง รับประทานกาแฟเป็นประจำ และได้รับการรักษาโดยใช้ยา Felodipine 10 มิลลิกรัม ในการลดความดันโลหิต อยู่ๆมาวันหนึ่งนาย A เลิกรับประทานกาแฟ แต่ยังใช้ยา Felodipine 10 มิลลิกรัมเท่าเดิมในการรักษาความดัน ก็อาจจะทำให้นาย A ได้รับอาการข้างเคียงจากยาได้ เช่น รู้สึกวูบ ความดันลดลงมากเกินไป เนื่องจากปริมาณยาไม่เหมาะสม ได้รับยามากเกินไป (เพราะอย่าลืมว่า ยา Felodipine 10 มิลลิกรัม ในตอนแรกที่ใช้รักษา ได้รวมฤทธิ์ที่ทำให้ความดันเพิ่มสูงขึ้นจากกาแฟเข้าไปด้วย)
ดังนั้นการบริโภคกาแฟต่อเนื่อง ก็อาจจะส่งผลต่อการวินิจฉัย และการรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ในบางบุคคลค่ะ
จากหลายๆงานวิจัยส่วนใหญ่ จะมีแนวโน้มไปในแนวทางที่พบว่าคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว หรือมีความเสียงเป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่อได้รับกาแฟจะทำให้มีระดับความดันโลหิตสูงกว่าคนโดยทั่วไป และยังพบว่ากาแฟมีผลลดประสิทธิภาพในการทำงานของยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม Beta-blocker ได้ด้วย
โดยทั่วไปถ้าเป็นไปได้ จึงมักแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นความดันโลหิตสูง งดรับประทานกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือไม่ควรรับประทานกาแฟเกิน 3 แก้ว/วัน
อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานที่เพียงพอจนสามารถสรุปได้ว่า กาแฟสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงอย่างแน่ชัด หลักๆแล้ว ตามแนวปฏิบัติในการป้องกันรักษาความดันโลหิตสูง เน้นการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ในเรื่อง
- ควบคุมน้ำหนักในผู้ที่เป็นโรคอ้วน BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 kg/m2
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมความเค็มในอาหารที่รับประทาน
- กินอาหารแบบ DASH
- งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดการสูบบุหรี่
ซึ่งยังไม่มีการกล่าวถึง กาแฟ กับ ความดันโลหิตสูง หรือ การห้ามรับประทานกาแฟ ค่ะ
อ้างอิง
งานวิจัยเรื่อง Coffee-Antihypertensive Drug Interaction: A Hemodynamic and Pharmacokinetic Study With Felodipine
Share this: