เห็นช่วงนี้มี inbox มาว่า กินยาแก้แพ้ติดต่อกันนานๆจะเป็นอะไรไหม
ถ้าใครเป็นโรคภูมิแพ้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกินยาแก้แพ้เป็นประจำ หรือในบางคนกินยาแก้แพ้เพื่อช่วยในการนอนหลับเป็นประจำ แบบนี้จะเป็นปัญหาอะไรหรือเปล่า อย่างท่านที่ inbox มาก็กินแทนยานอนหลับเป็นประจำ แต่ก็กังวลว่า กินไปนานๆจะมีผลข้างเคียงอะไรไหม จะสะสมในร่างกาย เป็นอันตรายต่อตับ/ไตหรือเปล่า คาดว่าหลายคนก็น่าจะสงสัยอะไรแบบนี้เหมือนกัน จึงขอเขียนเป็นบทความนี้ขึ้นมาเลยนะคะ
ยาแก้แพ้คืออะไร
ยาแก้แพ้เป็นภาษาที่คนทั่วไปใช้นั้น หมายถึง ยาในกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน (Antihistamine) แปลเป็นภาษาบ้านๆคือ เป็นยาในกลุ่มที่ยับยั้งการทำงานของฮีสตามีน ซึ่งฮีสตามีนเป็นสารตัวหนึ่งในร่างกาย พอร่างกายเจอสิ่งแปลกปลอมที่แพ้ เจ้าฮีสตามีนก็จะถูกหลั่งออกมาในปฏิกริยาการเกิดภูมิแพ้ ซึ่งจะทำให้เราเกิดอาการได้ตั้งแต่ เกิดผื่นแพ้, น้ำมูกไหล, คัดจมูก ชื่อที่เรียกเวลาเกิดอาการเหล่านั้นก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น แพ้อากาศ, โรคภูมิแพ้, ผื่นภูมิแพ้, ลมพิษ รวมถึงแพ้เครื่องสำอางด้วย ดังนั้นยาที่ไปยับยั้งการทำงานของฮีสตามีนจึงไประงับอาการเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักเป็นๆหายๆ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าเราแพ้อะไร และยังสัมผัสกับสิ่งที่แพ้นั้นอยู่ ทำให้เรามักต้องกินยาเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นประจำ
อย่างไรก็ตามสารที่เกี่ยวข้องกับอาการแพ้ ไม่ได้มีแค่ ฮีสตามีนเท่านั้น ยังมีสารอีกหลายตัวเช่น leukotriene และอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นยาแก้แพ้ จึงไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการแพ้ได้ทุกชนิด
ยาแก้แพ้มีกี่ชนิด
ยาแก้แพ้แบ่งเป็น generation หลาย generation อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ มันจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ง่วงมาก กับ กลุ่มที่ง่วงน้อย
กลุ่มที่ง่วงมาก
ยาในกลุ่มได้แก่ยา Chlorphenamine, Brompheniramine, Triprolidine, Diphenhydramine, Dimenhydrinate, Pheniramine, Hydroxyzine, Promethazine เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้เป็นยากลุ่มแรกๆ มีผลข้างเคียงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ ง่วงนอนมาก, ปากแห้ง, คอแห้ง, ปัสสาวะลำบาก จึงไม่ควรใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่นที่มีฤทธิ์กดประสาท รวมถึงไม่ควรขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ก็มีข้อดีคือ ด้วยความที่มันมีฤทธิ์ทำให้ง่วง ทำให้เอามาใช้ช่วยในการนอนหลับได้ (ตัวอย่างเช่น บางคนเวลาเป็นภูมิแพ้มีผื่นขึ้นคันมากก็จะหลับยากนิดนึง ยาในกลุ่มนี้ก็จะมีข้อดีจากอาการข้างเคียงก็จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น) นอกจากนี้ยังลดน้ำมูก และทำให้จมูกแห้งได้ดีกว่ายากลุ่มง่วงน้อย
กลุ่มที่ง่วงน้อย
ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พัฒนาต่อมาจากยากลุ่มที่ง่วงมาก โดยพัฒนาให้ตัวยาผ่านเข้าสู่สมองน้อยลง ทำให้ง่วงน้อยลง หรือไม่ง่วงเลยในบางคน ยาในกลุ่มนี้ เช่น Cetirizine, Loratadine, Levocetirizine, Desloratadine, Fexofenadine เป็นต้น ข้อดีของยากลุ่มนี้คือมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายาในกลุ่มแรก และออกฤทธิ์ได้นานกว่า อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้มักจะออกฤทธิ์ช้ากว่ายาในกลุ่มแรก และยังลดน้ำมูก สู้ยาในกลุ่มแรกไม่ได้
กินยาแก้แพ้ติดต่อกันนานๆ จะเป็นอะไรไหม
ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาแก้แพ้ติดต่อกันนานๆในระยะยาวยังมีไม่มากเท่าไรนัก แต่ก็ค่อนข้างชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่า เพิ่มโอกาสการเกิดปัญหาเรื่องความจำ (cognitive impairment), สมองเสื่อม (dementia), อัลไซเมอร์ (alzheimer) เนื่องจากฤทธิ์ anticholinergic ของตัวยาแก้แพ้
ถ้าจำเป็นต้องกินยาแก้แพ้ติดต่อกันนานๆ ต้องทำอย่างไร
หากจำเป็นต้องใช้ต่อเนื่องกันนานๆจริงๆ ให้เลี่ยงไปใช้กลุ่มที่ง่วงน้อย (Cetirizine, Loratadine, Levocetirizine, Desloratadine, Fexofenadine) เนื่องจากมีฤทธิ์ anticholinergic น้อยกว่าในกลุ่มแรก จึงลดโอกาสการเกิดปัญหาที่กล่าวไว้ได้ อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาสุขภาพ การค้นหาและการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอาการภูมิแพ้ และยังลดการใช้ยาไปได้มาก หรืออาจไม่ต้องรับประทานยาอีกเลย
อ้างอิง
บทความเรื่อง Long-term antihistamine therapy revisited โดย Natasha Smith และคณะ
Share this: