ฉีดวัคซีน HPV ป้องกัน มะเร็งปากมดลูก กันหรือยัง?

ฉีดวัคซีน HPV ป้องกัน มะเร็งปากมดลูก กันหรือยัง?

โดยส่วนตัว Jaslyn เอง ฉีดวัคซีน HPV แล้วค่ะ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก ถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่เรียกว่า ลดความเสี่ยงในการเกิดลงไปได้เยอะมากๆ ซึ่งถือว่าคุ้มค่าค่ะ เมื่อเปรียบเทียบกับการที่เราอาจจะป่วย และต้องใช้เวลารวมถึงค่าใช้จ่ายในการที่ต้องรักษาโรคมะเร็งในอนาคต ที่เขียนเรื่องนี้ เพราะ คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สาวๆทุกคน ต้องตระหนักในการดูแลสุขภาพตัวเองค่ะ

ฉีดวัคซีน HPV

ก่อนอื่น Jaslyn จะพาทุกคนไปรู้จักเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกก่อนค่ะ

มะเร็งปากมดลูก มักพบในผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป โดยมะเร็งชนิดนี้จะเกิดขึ้นในชั้นของเยื่อบุผิวปากมดลูก เริ่มต้นจากเซลล์บางเซลล์เกิดการกลายตัว เป็นเซลล์ที่มีความผิดปกติ แล้วเกิดการเจริญลุกลามเรื่อยๆ จนกลายเป็นก้อนมะเร็ง ซึ่งจากความผิดปกติเริ่มต้น จนกลายเป็นมะเร็งกินระยะเวลานาน 5-10 ปี

หากตรวจพบในระยะเริ่มต้นก่อนมะเร็งก็จะสามารถรักษาให้หายได้ค่ะ เปรียบเสมือนการตัดตอนเซลล์นั้นๆก่อนจะลุกลาม ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้ ผู้หญิงที่อายุ 25 ปี ขึ้นไปเริ่มไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกค่ะ ส่วนในผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แนะนำให้ไปตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป และตรวจติดตามทุก 1-2 ปี ค่ะ

อะไรคือ ตัวการ ให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

จากการศึกษาต่างๆ เค้าพบว่า มะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า Human Pappiloma Virus หรือ เรียกย่อๆ ว่า HPV ซึ่งมีอยู่ราวๆ 40 สายพันธุ์ ที่ถูกค้นพบแล้ว แต่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก

  1. High Risk HPV
    กลุ่มนี้เป็นสายพันธุ์ที่ติดเชื้อแล้วมักทำให้เซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็ง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18 (สองสายพันธุ์นี้พบได้บ่อยสุด), 31, 33, 45
  2. Low Risk HPV
    กลุ่มนี้เป็นสายพันธุ์ที่ติดเชื้อแล้วไม่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ ได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11

เจ้าเชื้อไวรัส HPV จะเข้าไปที่เซลล์เยื่อบุผิวปากมดลูก และแทรกชิ้นส่วน DNA ไวรัส ลงไปใน DNA ของเซลล์เยื่อบุผิว ทำให้เซลล์กลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ เกิดการเจริญเติบโตแบ่งเซลล์มากมาย แบบแบ่งไม่หยุด และเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด!!!

แล้วจะฉีดวัตซีนป้องกันดีมั๊ย? จะฉีดวัคซีนตัวไหนดี? ต่างกันยังไง?

ในปัจจุบันการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้า จนเรามีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV แล้วค่ะ ซึ่งเป็นวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ที่มีประสิทธิภาพสูง และอาการข้างเคียงค่อนข้างน้อย มีการใช้มาแล้วราวๆสิบปี ทั่วโลก ในท้องตลาดปัจจุบันมี 2 ยี่ห้อ คือ

  1. Cervirax
    วัคซีนตัวนี้ จะสามารถป้องกันได้ 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18 ซึ่งเป็นไวรัส HPV กลุ่มเสี่ยงสูง และพบบ่อยว่าเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง ฉีด 3 ครั้ง ที่ 0,1,6 เดือน
  2. Gardasil
    วัคซีนตัวนี้สามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ คือ 16, 18 และ เพิ่ม 6, 11 ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ (เป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำที่ทำให้เกิดมะเร็ง) ตัวนี้มีการศึกษาในเด็กผู้ชายด้วย จึงสามารถฉีดให้ได้ทั้งในเพศหญิง และชาย ฉีด 3 ครั้ง ที่ 0,2,6 เดือน ราคาคอร์สฉีดจะสูงกว่าราวๆ 2 พัน

นอกจาก HPV จะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว ยังพบว่าเป็นสาเหตุให้เกิด มะเร็งทวารหนัก อวัยวะเพศภายนอกช่องคลอด และมะเร็งช่องปาก ได้ด้วย

9 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน HPV

  1. อายุที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีน คือ 9-26 ปี ทั้ง ชายและหญิง เพราะเป็นช่วงอายุที่ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนได้ดี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี (องค์การอนามัยโลก แนะนำการฉีดวัคซีน HPV ทั้งในเด็กผู้หญิง และผู้ชาย)
  2. การติดเชื้อ HPV มักไม่แสดงอาการ จะทราบต่อเมื่อตรวจภายในแล้วพบเซลล์เยื่อบุมดลูกมีความผิดปกติ หรือใช้วิธี Liquid-based cytology ตรวจหาเชื้อไวรัส ดังนั้นมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่สามารถป้องกันได้ก่อนลุกลามโดยการตรวจภายในเป็นประจำ ทุก 1-2 ปี
  3. ประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง เกือบ 100% ปัจจุบันตั้งแต่อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีน ยังไม่มีการเรียกกลับไปฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีแนวโน้มว่า การฉีด 3 เข็ม จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต
  4. ผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนสามารถฉีดได้เลย, ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ต้องตรวจภายในก่อน หากตรวจแล้วไม่มีการติดเชื้อ HPV มาก่อนก็ฉีดได้ หากมีรอยโรคของสายพันธ์เดียว ก็ยังควรฉีดเพื่อป้องกันการติดสายพันธ์อื่นในภายหลัง
  5. วัคซีน HPV ต้องฉีด 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 6 เดือน
  6. ฉีดวัคซีนบริเวณกล้ามเนื้อหัวไหล่ ไม่เจ็บมาก (ความเห็นส่วนตัว พยาบาลใจดี ^^) อาการข้างเคียงที่มีการรายงาน ไม่รุนแรง เช่น เจ็บบริเวณรอยเข็ม ไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว พบผู้แพ้วัคซีนน้อย
  7. แม้ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV แล้ว ยังควรตรวจภายในเพื่อติดตามการเกิดมะเร็งปากมดลูกทุกๆ 2 ปี
  8. ถุงยางอนามัย ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100%
  9. HPV ติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ติดต่อจากการใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่น เพราะเชื้อเมื่ออยู่นอกร่างกายจะมีความทนทานต่ำ และตายอย่างรวดเร็ว

Jaslyn เชื่อว่า เรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงอย่างเราควรใส่ใจ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องความสวยงามค่ะ หากเราสามารถป้องกัน หรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ก็เป็นสิ่งที่เราควรตระหนัก และให้ความสำคัญค่ะ เพราะจะเป็นประโยชน์กับเราเองในระยะยาว

เพิ่มเพื่อน
Share this: