กินลิ้นจี่ ตอนท้องว่างอาจตายได้ จริงหรือ!!!?

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีข่าว ควรกินข้าวก่อน! นักวิจัยเผยสาเหตุเด็กอินเดียหลายคนเสียชีวิตเพราะ “กินลิ้นจี่ตอนท้องว่าง”  หลายๆคนคงเกิดคำถามว่า

จริงหรือเปล่านะ ?
ข่าวนี้ดูแปลกๆนะ ?
ไม่น่าเป็นไปได้ กินตอนท้องว่างออกบ่อย ไม่เห็นเป็นไรเลย ?

แต่พอกดเข้าไปอ่านข่าวก็ต้องประหลาดใจ เพราะดูๆไปแล้ว ข่าวนี้ก็มีมูลพอสมควร แถมยังมีงานวิจัยจาก Lancet มาอ้างอิงอีกด้วย เอาล่ะสิ แล้วสรุปกินตอนท้องว่างแล้วตายจริงๆหรือเปล่านะ วันนี้เราจะมาหาข้อสรุปกันครับ

กินลิ้นจี่ ตอนท้องว่าง ตาย

ปริศนาลิ้นจี่

ตามเท่าที่มีการบันทึกไว้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ในพื้นที่ Muzaffarpur ประเทศอินเดียซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดที่มีการปลูกพืชในตระกูลลิ้นจี่ ได้พบอาการประหลาดที่ทำให้ผู้ป่วยเด็กถูกนำส่งโรงพยาบาล ด้วยอาการเกี่ยวกับระบบประสาทที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้  และเหตุการณ์นี้จะพบบ่อยแบบเรียกว่าพีคเลย ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เหตุการณ์ประหลาดนี้ยังพบในพื้นที่ชนบทอันห่างไกลของเวียดนาม บังคลาเทศ ในพื้นที่ที่ปลูกลิ้นจีเยอะด้วยเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว โดยจะมีเด็กป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการก็ประหลาดมาก คือเมื่อตื่นเช้า เด็กจะมีอาการซึม สับสน พูดไม่รู้เรื่อง บางคนมีอาการไข้และชักร่วมด้วย ทั้งๆที่เมื่อวานเย็นเด็กยังมีอาการปกติดีทุกอย่าง เมื่อตรวจทุกอย่างเพิ่มเติมไม่ว่าจะตรวจร่างกาย ซักประวัติ ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อน การติดเชื้อ ก็ไม่พบอะไรผิดปกติแต่อย่างใด

ค้นหาผู้ต้องสงสัย

ในปีถัดๆมา ปีแล้ว ปีเล่า ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดนี้อย่างต่อเนื่อง ความกลัวเข้าปกคลุมพื้นที่อาถรรพ์เหล่านี้ ชาวบ้านต่างกลัวว่าลูกตัวเองจะเป็นรายต่อไป ในบางพื้นที่ เช่น อินเดีย มีการตรวจยาฆ่าแมลง เชื้อโรค แต่ก็ไม่พบความสัมพันธ์ชัดเจนนัก  และแม้ว่าจะมีการควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลง เหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังคงพบอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าในปี พ.ศ.2555 ได้มีการฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบขนานใหญ่ให้แก่เด็กๆ แต่ก็ยังพบเด็กที่ป่วยด้วยอาการประหลาดนี้ทุกปี แต่เมื่อซักประวัติ มักพบว่าเด็กๆที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเหล่านี้จะมีประวัติเกี่ยวข้องกับการกินลิ้นจี่ร่วมด้วย ดังนั้น ตัวเลือกเดียวที่ยังเหลืออยู่ และมีความเป็นไปได้ คือ “เกิดจากสารในผลไม้ที่เด็กทาน”

“ถ้าวัคซีนไข้สมองอักเสบไม่ช่วยอะไร ดังนั้นตัวการใหญ่ก็น่าจะอยู่ในผลไม้ที่เด็กทานนั่นแหละ”

“แล้วสารอะไรล่ะ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแบบนั้นได้?”

ในช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม ปี 2014 ศึกษาเก็บเคสผู้ป่วยที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล ด้วยอาการเกี่ยวกับระบบประสาท สับสน มึนงง พูดไม่รู้เรื่อง จำนวน 390 เคส ในจำนวนเหล่านี้พบว่า 204 คนมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่หรือต่ำกว่า 70 mg/dL และพบว่าผู้ป่วยบางส่วน โดยเฉพาะเด็ก มีความสัมพันธ์กับการกินลิ้นจี่มาก่อน และสัมพันธ์กับการไม่ได้กินข้าวเย็น และมีการตรวจพบสาร เมตาบอไลท์ของ hypoglycin A และ methylenecyclopropylglycine ในตัวอย่างปัสสาวะ

หลังจากพิจารณาแล้ว พบสารต้องสงสัยที่เป็นไปได้ในผลไม้ 2 ตัว คือ hypoglycin A และ methylenecyclopropylglycine โดยสารทั้ง 2 เป็นสารพิษในพืชบางชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างน้ำตาล ยับยั้งการใช้พลังงานจากกรดไขมัน ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน และเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งสาร 2 ตัวนี้ โดยปกติแล้วพบในผลไม้จาไมก้าที่ชื่อว่าอัคกี และทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคอาเจียนจาไมก้า อย่างไรก็ตาม ลิ้นจี่ เงาะ และลำไย เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกับอัคกี ดังนั้น จึงมีโอกาสพบสารทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ มากน้อยต่างกันไป

หลังจากเปลี่ยนโจทย์การศึกษาจาก ยาฆ่าแมลง และ เชื้อโรค เป็นสาร hypoglycin A ในลิ้นจี่ จึงได้ให้การรักษาผู้ป่วยเสมือนผู้ที่มีอาการน้ำตาลต่ำ รวมถึงตรวจหาสาร hypoglycin A ในเลือดของผู้ป่วย ซึ่งปรากฏว่าพบสาร  hypoglycin A ในเลือดของผู้ป่วยจริงๆ

ปริศนาคลี่คลาย ?

หลังจากพบความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริศนา กับ สาร hypoglycin A ในเลือดของผู้ป่วย จึงได้มีการตรวจสอบย้อนกลับไป พบว่าผู้ป่วยทุกคนมีบางอย่างเหมือนกัน ได้แก่

  1. เป็นเด็ก
  2. มีภาวะขาดสารอาหาร ได้รับอาหารไม่เพียงพอ อดมื้อ กินมื้อ
  3. มักจะมีประวัติว่าหายไปในสวนลิ้นจี่ ไปกินลิ้นจี่ทั้งวันจนอิ่ม และกลับมาโดยทั้งวันไม่กินอาหารหรือไม่กินอาหารเย็น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เด็กทุกคนที่ตรงกับ 3 ข้อนี้ แล้วจะเป็นทุกคน บางคนก็ไม่มีอาการอะไรเลย แต่เนื่องจากหาสาเหตุอื่นไม่เจอและตรวจเจอสารที่เป็นไปได้ในเลือด ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ตัวการน่าจะเป็นสารพิษในลิ้นจี่ โดยเฉพาะเจ้าสาร hypoglycin A เนี่ยแหละ

แล้วจะทำอย่างไรกันดี แบบนี้จะกินลิ้นจี่ตอนท้องว่างได้ไหม?

ถึงแม้ว่าจะมีรายงานออกมาแบบนี้ ก็อย่าพึ่งตกใจกันไปครับ เพราะว่ามีรายงานในบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่ทุกพื้นที่ และพบเฉพาะในเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารอยู่แล้ว หรือต่อให้ขาดสารอาหาร+ไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิม ก็เป็นเฉพาะบางคน ไม่ได้เป็นทุกคนครับ เพราะฉะนั้นลิ้นจี่ สามารถทานได้ตามปกติ แต่มีข้อควรระวัง คือ

  1. อย่ากินลิ้นจี่ดิบ เพราะผลดิบมีสารพิษมากกว่าผลสุกประมาณ 2-3 เท่า
  2. อย่ากินลิ้นจี่อย่างเดียวแทนอาหารมื้อหลัก หรือทั้งวันทานแต่ลิ้นจี่
  3. อย่าขาดสารอาหาร หรือให้ผู้ที่ขาดสารอาหารทาน (จากรายงานพบผู้ป่วยเฉพาะในเด็กที่ขาดสารอาหารเท่านั้น เพราะการขาดสารอาหารทำให้พลังงานสำรองลดลง พอระดับน้ำตาลในเลือดตก จึงเกิดอาการดังกล่าวได้ง่ายกว่าคนทั่วไป)

ถ้ามันลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เราก็กินเพื่อรักษาเบาหวานได้น่ะสิ

หยุดความคิดนี้ไปก่อนครับ เพราะจากรายงานการวิจัยพบว่าลิ้นจี่แต่ละลูกมีสารนี้ไม่เท่ากัน บางลูกมีมาก บางลูกมีน้อย เอาแน่เอานอนไม่ได้ ที่สำคัญลิ้นจี่เองก็น้ำตาลเยอะ โดยเฉพาะในผลสุก ดังนั้นแทนที่จะลดระดับน้ำตาล อาจกลายเป็นเพิ่มระดับน้ำตาลแทนได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายพบภาวะไตวายร่วมด้วย ดังนั้นถ้าจะกินเพื่อหวังลดน้ำตาล รักษาเบาหวาน อาจได้ไม่คุ้มเสียครับ ทางที่ดีการรักษาเบาหวานควรให้แพทย์เป็นผู้เลือกใช้และปรับขนาดยา รวมถึงตัวผู้ป่วยเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะเรื่องการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย จึงจะเป็นการรักษาเบาหวานที่ดีที่สุดครับ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว 

 

เพิ่มเพื่อน
Share this: