หนึ่งในปัญหากวนใจของสาวๆ คืออาการปวดประจำเดือน ที่มันทั้งน่าหงุดหงิด เจ็บปวด และทรมาน วันนี้ Jaslyn มีเคล็ดลับดีๆมาแนะนำวิธีการรักษาแบบไม่ต้องพึ่งยา เพื่อบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นก่อนค่ะ
การรักษาอาการปวดประจำเดือน
หากพูดถึงวิธีรักษาอาการปวดประจำเดือน หลายๆคนคงนึกถึงยา Ponstan ซึ่งมีตัวยา mefenamic acid เป็นตัวออกฤทธิ์ อย่างไรก็ตามยาตัวอื่นๆในกลุ่ม NSAIDs ก็สามารถใช้ได้ดีเหมือนกันนะคะ หากหายา Ponstan ไม่ได้ ก็สามารถใช้ยาอย่าง Ibuprofen, Naproxen, Meloxicam ได้เหมือนกัน เอาไว้ว่างๆจะเขียนอธิบายอย่างละเอียดอีกทีนะคะว่ายาแต่ละตัวใช้ยังไง
ถึงแม้ว่ายา Ponstan หรือ NSAIDs ตัวอื่นๆจะใช้ได้ผลดี แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้ผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้ อีกทั้งยายังมีผลข้างเคียงทำให้ต้องใช้อย่างระวังในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ, โรคหืด และผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับและไตค่ะ ดังนั้นวิธีการรักษาแรกเริ่มจริงๆตามหลักการแล้วเราจะเริ่มจากการรักษาแบบไม่ใช้ยาก่อน หากรักษาแบบไม่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล เราจึงขยับไปใช้ยา แต่คนส่วนใหญ่มักข้ามขั้นตอนนี้ไปใช้ยาเลย ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ค่อยถูกต้องนะคะ เว้นแต่ว่าจะปวดรุนแรงมากก็ให้ข้ามไปใช้ยาได้เลยค่ะ
การรักษาอาการปวดประจำเดือนโดยไม่ใช้ยา
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนไม่รุนแรงมากนัก ให้เริ่มการรักษาแบบไม่ใช้ยาก่อน
สำหรับผู้ที่มีข้อห้ามใช้หรือข้อพึงระวังบางประการที่ไม่สามารถใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs ได้ เช่น แพ้ยาในกล่มนี้, เป็นโรคกระเพาะ, เป็นโรคหืด, มีปัญหาเรื่องตับและไต ก็ควรลองเริ่มการรักษาแบบไม่ใช้ยาก่อนเช่นกัน แต่ถ้าหากเอาไม่อยู่จริงๆ อาจต้องเปลี่ยนไปยากลุ่มอื่นที่ไม่ใช้ NSAIDs ค่ะ เอาไว้ว่างๆจะเขียนอธิบายให้อีกทีนะคะ ว่าถ้าไม่ใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs จะใช้ยาในกลุ่มไหนได้อีกบ้าง
เอาละ เริ่มกันเลยดีกว่า
1. การประคบร้อน
การประคบร้อนเป็นทางเลือกแรกสำหรับผู้ที่ปวดประจำเดือน นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่าการประคบร้อนมีประสิทธิภาพดีในการรักษาภาวะปวดประจำเดือนได้ดีกว่ายา Paracetamol โดยสามารถรักษาอาการปวดประจำเดือนได้ใกล้เคียงกับยาในกลุ่ม NSAIDs เลยทีเดียวค่ะ (แต่ที่ดีกว่าแน่ๆคือไม่มีผลข้างเคียงจากยาค่ะ) นอกจากนี้หากใช้วิธีการประคบร้อนร่วมกับทานยา NSAIDs ก็พบว่าการใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกันช่วยให้มีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นอีกด้วยค่ะ สำหรับวิธีการประคบร้อนที่แนะนำนั้นก็คือ ให้ประคบหน้าท้องด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส
2. การฝังเข็ม
การฝังเข็มถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้ยา โดยจากการศึกษาพบว่าการฝังเข็มสามารถบรรเทาอาการปวดได้ โดยการฝังเข็มจะไปเพิ่ม threshold ของ pain signal และกระตุ้นการหลั่งของ endorphins ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข จากปลายประสาทในไขสันหลัง
3. การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิดที่พบว่าช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ ได้แก่ วิตามินบี 1, วิตามินบี 6, วิตามินอี และน้ำมันปลาค่ะ นอกจากนี้บางการศึกษายังพบว่าการรับประทาน Calcium และ Magnesium มีผลช่วยลดอาการปวดได้บ้างเล็กน้อย สำหรับการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้รับประทานดังนี้ค่ะ
– วิตามินบี 1 รับประทานทุกวัน วันละ 100 mg
– วิตามินบี 6 รับประทานทุกวัน วันละ 200 mg
– วิตามินอี รับประทานวันละ 400 – 500 unit โดยให้รับประทานก่อนวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือน 2 วัน และรับประทานต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน (**ขนาดและวิธีรับประทานสำคัญนะคะ วิตามินอีไม่สามารถทานต่อเนื่องทุกวันได้ เนื่องจากวิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ทำให้เกิดการสะสมในร่างกายได้ค่ะ)
– น้ำมันปลา รับประทานทุกวัน (**น้ำมันปลา (Fish Oil) นะคะ ไม่ใช่น้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil) เห็นเข้าใจผิดกันเยอะ ตัวน้ำมันตับปลาไม่สามารถรับประทานทุกวันได้นะคะ เนื่องจากวิตามิน A กับ D ในน้ำมันตับปลาสามารถทำให้เกิดการสะสมในร่างกายได้ค่ะ)
หมายเหตุ การรับประทานอาหารเสริม ต้องพิจารณาถึงโรคประจำตัว รวมถึงยาและอาหารเสริมชนิดอื่นๆที่กำลังใช้อยู่ร่วมด้วยทุกครั้งนะคะ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อมาทานค่ะ
4. การผ่อนคลาย และการรักษาทางด้านจิตใจ
หลายๆครั้งที่ความเครียด ความวิตกกังวล หรือปัญหาทางจิตใจมีผลทำให้การปวดประจำเดือนรุนแรงขึ้น และนานขึ้น ดังนั้นการผ่อนคลายความเครียด การรักษาทางด้านจิตใจ อย่างการนวด และการนั่งสมาธิ สามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการปวดประจำเดือนได้ค่ะ
5. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้อย่างมีนัยสำคัญผ่านหลายๆกลไก เช่น เพิ่มการหลั่ง endorphins และช่วยลดความเครียด
6. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
การลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน การลดการรับประทานอาหารที่มีรสหวานและเกลือ รวมถึงการลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน สามารถช่วยลดการปวดประจำเดือนได้ค่ะ
จบไปแล้วนะคะ สำหรับวิธีการรักษาอาการปวดประจำเดือนโดยไม่ใช้ยา ซึ่งหากทำแล้วได้ผลก็จะช่วยลดการใช้ยา และหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงต่างๆจากการใช้ยาไปได้มากค่ะ โดยเฉพาะการประคบด้วยความร้อน ถือว่าเป็นวิธีที่ควรทำแม้ว่าจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากยา โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่ มีประวัติแพ้ยา หรือมีโรคประจำตัวอย่างโรคหืด และโรคแผลในทางเดินอาหารค่ะ อย่างไรก็ตามหากทำแล้วยังไม่ได้ผล เราก็มีความจำเป็นต้องใช้ยาช่วยค่ะ
สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการปวดประจำเดือนครั้งแรกหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรกนานหลายปี และอาการปวดมักเริ่มปวดก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์ และปวดตลอดจนประจำเดือนหมด 2-3 วัน แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อทำการตรวจภายใน เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า อาการปวดประจำเดือนนั้นไม่ใช่การปวดประจำเดือนธรรมดา แต่เป็นการปวดประจำเดือนที่เกิดจากพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน
สำหรับการใช้ยานั้นก็มีทั้งการใช้ยาแก้ปวด และยาคุมกำเนิด เอาไว้คราวหน้าจะเขียนอธิบายให้ฟังกันนะคะ ว่าควรใช้ยาตัวไหน แบบไหน เมื่อไร อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยอย่าลืมปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้งนะคะ
Share this: