คราวที่แล้วเราแสดงปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มชนิดต่างๆโดยประมาณกันไปแล้ว ซึ่งเรียกได้ว่ากินกันแค่แก้วเดียวก็ได้น้ำตาลมากเกินพอสำหรับทั้งวันเลยทีเดียว
อ่านบทความที่แล้วได้ที่นี่ >>>>> เครื่องดื่มที่เราทาน หวานแค่ไหนกันนะ?
แล้วถ้าเรากินหวานมากๆ จะมีอันตรายกับเรายังไงบ้างนะ?
หากเราบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปเป็นระยะนาน จะสามารถทำให้เป็นโรคได้หลายอย่าง เช่น
- โรคอ้วน (obesity) : เมื่อร่างกายเราได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินพอ ร่างกายเราจะเปลี่ยนรูปน้ำตาลเป็น glycogen เก็บสะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ แต่ร่างกายเก็บสะสม glycogen ได้จำกัด หากร่างกายสะสม glycogen จนเต็มแล้ว และยังมีน้ำตาลหลงเหลืออยู่ น้ำตาลเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมัน ดังนั้นหากเราบริโภคน้ำตาลปริมาณมากเกินพอดีเป็นเวลานาน เราก็จะเป็นโรคอ้วนได้ในที่สุด
- โรคไขมันในเลือดสูง (dyslipidemia) : นอกจากน้ำตาลส่วนเกินจะถูกร่างกายเปลี่ยนเป็นไขมันและไปสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกายแล้ว บางส่วนยังอยู่ในกระแสเลือด หากมีปริมาณมากก็จะเป็นโรคไขมันในเลือดสูง โดยการบริโภคน้ำตาลจะสัมพันธ์กับไขมันพวก triglyceride ในเลือดมากที่สุด
- ความดันโลหิตสูง (hypertension) : โรคความดันโลหิตสูงจากการบริโภคน้ำตาลมากเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคอ้วนและโรคไขมันในเลือดสูง
- โรคหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) : หากเกิดการคั่งของไขมันที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดง จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ขาดความอ่อนนุ่มและความยืดหยุ่นตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ไม่ดี ถ้าไขมันนี้ไปอุดตันที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้
- เบาหวาน (diabetes) : เมื่อเรารับประทานน้ำตาลเข้าไปในร่างกาย ตับอ่อนจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง การที่เราบริโภคน้ำตาลมากๆเป็นเวลานานจะทำให้ตับอ่อนทำงานหนักและร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เป็นเบาหวานได้ในที่สุด
- โรคฟันผุ (dental caries) : ประเภทของอาหารที่มีน้ำตาลแต่ละชนิดทำให้เกิดฟันผุได้มากน้อยต่างกัน โดยอาหารที่ติดฟันง่ายจะทำให้เกิดโรคฟันผุได้ง่ายกว่า เช่น ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต กาละแม เป็นต้น โดยน้ำตาลที่เกาะติดอยู่กับฟันจะถูกแบคทีเรียในปากชื่อ Lactobacillus acidophilus เปลี่ยนเป็นกรดแลกติก ซึ่งกรดนี้จะทำลายเคลือบฟัน (enamel) ทำให้เป็นฟันผุ
ในเมื่อน้ำตาลในปริมาณมากทำให้เกิดผลเสียมากขนาดนี้ ทำไมมนุษย์เราถึงได้ติดใจรสชาติของน้ำตาลกันนัก?
ในสมัยดึกดําบรรพ์ บรรพบุรุษของเราไม่ได้หาอาหารได้ง่ายและสะดวกสบายเหมือนในสมัยนี้ เพราะฉะนั้นวิวัฒนาการของร่างกายของมนุษย์เราจึงมีความสุขจากการได้ลิ้มรสอาหาร โดยเฉพาะน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย นอกจากนี้ “รสหวาน” จะไปกระตุ้นสมองในส่วนที่เป็น “ระบบให้รางวัล” ดังนั้น เมื่อเรากินอาหารหวานๆเข้าไปในปริมาณมาก สมองจะยิ่งรู้สึกดี และมีความต้องการรสหวานมากขึ้นเรื่อยๆ
ประโยชน์ของน้ำตาลคืออะไร?
ทุกอย่างล้วนมีทั้งคุณและโทษ หากเรารับประทานน้ำตาลให้พอดี น้ำตาลก็มีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่
- ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดย น้ำตาล 1 กรัมให้พลังงาน 4 แคลอรี่ (ดังนั้นน้ำตาล 1 ช้อนชาให้พลังงานประมาณ 15-16 แคลอรี่) นอกจากนี้น้ำตาลยังเป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายนำไปใช้ได้รวดเร็วที่สุด
- ช่วยรักษาสมดุลระหว่างการเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายขาดน้ำตาล ร่างกายจะนำไขมันมาใช้เป็นพลังงาน หากร่างกายมีการดึงเอาไขมันมาเผาผลาญเป็นพลังงานที่มากและเร็วเกินไป จะทำให้เกิดการคั่งของ Ketone bodies ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
- เป็นส่วนประกอบของกรดนิวคลีอิก โดยกรดนิวคลีอิกมีหน้าที่สำคัญคือ ควบคุมการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ ควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย
คนไทยบริโภคน้ำตาลกันเท่าไร?
WHO แนะนำว่าผู้ใหญ่ควรรับประทานไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) แต่ปัจจุบันพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 23 ช้อนชา (92 กรัม) ต่อวันซึ่งถือเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่แนะนำถึงเกือบ 4 เท่า !!!!
กินหวานอย่างไรให้ปลอดภัย?
- ลดน้ำตาลในการปรุงอาหารลงมาครึ่งหนึ่ง เติมน้ำตาลในเครื่องดื่มให้น้อยลง อย่างตามน้ำตาลซองส่วนใหญ่จะมีปริมาณน้ำตาล 8 กรัม เราก็ควรหันมาใช้ซองเล็กที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 4 กรัมแทน
- ลดการดื่มน้ำอัดลม
- กินผักผลไม้สดมากๆ เพราะอาหารพวกนี้ให้วิตามิน เกลือแร่ และกากจำนวนมาก แถมยังได้รสหวานจากน้ำตาลฟรักโทสอีกด้วย
- ดูฉลากอาหารก่อนซื้อทุกครั้งว่าอาหารนั้นมีน้ำตาลกี่เปอร์เซ็นต์
- บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าธรรมดาหลังจากกินขนมหวานหรือน้ำหวาน
- ไม่ควรให้รางวัลเด็กหรือฉลองเทศกาลต่างๆ ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลสูง
น้ำตาลเปรียบเหมือนดาบสองคม ให้ทั้งคุณและโทษ แต่ปัจจุบัน น้ำตาลนอกจากจะมีรสชาติถูกปากแล้ว น้ำตาลยังหาได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมากและมีอยู่ในอาหารแทบทุกชนิด คนส่วนมากจึงได้โทษจากน้ำตาลเพราะบริโภคน้ำตาลมากเกินไปซะมากกว่า
ขอบคุณ infographic จาก สสส. ครับ
Share this: