ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคที่คนไทยไม่ตระหนัก
เมื่อเราเริ่มมีอายุมากขึ้น ระบบต่างๆที่เคยทำงานได้ดีก็เริ่มแปรปรวน เมื่อตรวจสุขภาพประจำปีหลายคนเริ่มพบตัวบ่งชี้ ถึงภาวะสุขภาพที่แย่ลง เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง
ไขมันในเลือด คือ อะไร
ไขมันในเลือด คือ สารในกลุ่มที่เรียกว่า ไลโปโปรตีน (Lipoprotein) เป็นสารประกอบเชิงซ้อนโมเลกุลใหญ่ ทำหน้าที่ลำเลียงขนส่ง คลอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอร์ไรด์ และวิตามินต่างๆที่ละลายในไขมัน ซึ่งไลโปโปรตีนแต่ละชนิด จะมีอะโปไลโปโปรตีนที่ต่างกัน ซึ่งจะคอยควบคุมให้ ไลโปโปรตีนทำงานต่างๆกันไป นอกจากนี้ไลโปโปรตีนแต่ละชนิดยังมีความหนาแน่นที่ต่างๆกันด้วย
ซึ่งไขมันในเลือด กับ ไขมันที่สะสมอยู่ตามพุง เนื้อเยื่อต่าง ก็เป็นคนละอันกัน อย่างสับสนนะคะ
ชนิดของ ไลโปโปรตีน (Lipoprotein) ในเลือด
- ไคโลไมครอน (Chylomicron) เป็นตัวที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบเยอะที่สุด โดยเฉพาะไตรกลีเซอร์ไรด์ และมีความหนาแน่นน้อยที่สุด ถูกสังเคราะห์ขึ้นในลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ขนส่งไขมันจากอาหารไปยังตับ และเนื่อเยื่อต่างๆ
- VLDL (Very low density lipoprotein) ถูกสังเคราะห์ขึ้นที่ตับ มีไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นส่วนประกอบสูง ส่วนใหญ่จะเป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอร์ไรด์ในร่างกายไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ
- IDL (Intermediate density lipoprotein) เมื่อ VLDL ปลดปล่อยไขมันนำไปใช้แล้ว จะมีขนาดเล็กลง เรียกว่า IDL ซึ่งจะเป็นสารตั้งต้นในการเกิด LDL ต่อไป
- LDL (Low density lipoprotein) เป็นไลโปโปรตีนที่มีคลอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบสูงทำหน้าที่ขนส่ง คลอเลสเตอรอลไปให้เซลล์ต่างๆที่มี LDL receptor
- HDL (High Density lipoprotein) เป็นไลโปโปรตีนที่มีขนาดเล็กที่สุด และมีความหนาแน่นมากที่สุด โดย HDL จะทำหน้าที่ ขนส่งคลอเลสเตอรอลกลับเข้าสู่เซลล์ตับ
โดยทั่วไปเรามักจะคุ้นกับ ชื่อของ LDL และ HDL มากที่สุด และเพื่อให้จำง่าย ง่ายต่อการเข้าใจ เราจะเรียก เจ้า LDL ว่าเป็นไขมันตัวร้าย ไขมันเลว และ เรียก เจ้า HDL ที่คอยเก็บกวาดคลอเลสเตอรอล ไขมันต่างๆกลับตับ ว่า ไขมันดี
สิ่งที่น่าตกใจคือ ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงที่ส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ แต่ภาวะไขมันในเลือดสูงกลับได้รับความสนใจ และตระหนักถึงภาวะของโรคน้อย
จากสถิติงานวิจัยเกี่ยวกับระบาดวิทยา Prevalence of Dyslipidemia and Management in the Thai Population, National Health Examination Survey IV, 2009.
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาในคนไทย เป็นการศึกษาที่ใหญ่พอสมควร ศึกษาในประชากรทั้งหมด 19,021 คน อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป พบว่า มีประชากรถึง 29.6% ที่มีภาวะ LDL-C สูง, 47.1% มีภาวะ HDL-C ต่ำ, 38.6% มีภาวะไตรกลีเซอร์ไรด์สูง (High Triglycerides) ในการศึกษานี้ยังมีการศึกษาแยกย่อยไปตามภูมิภาคต่างๆด้วย ขอเล่าเฉพาะข้อมูลในส่วนของเพศหญิงนะคะ พบว่าภาคใต้เป็นบริเวณที่พบประชากรมี ภาวะ LDL สูงเยอะสุด คือ 38.2% ตามมาติดๆด้วยภาคกลาง 34.8% ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าเป็นบริเวณที่ประชากรมี ภาวะ HDL ในเลือดต่ำ มากที่สุด คือ 66.8% ตามมาด้วย ภาคเหนือ 60.4% และภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมากที่สุด 41.4% และยังพบว่าในผุ้ป่วย โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคไต มักพบภาวะ HDL สูงร่วมอยู่ด้วย
พบว่า โดยรวมแล้ว คนไทย 66.5% มีภาวะบางอย่างของ Dyslipidemia และอย่างที่กล่าวในตอนต้น ว่ามีประชากรที่ตระหนักเกี่ยวกับภาวะไขมันในเลือดสูงน้อยมาก จากสถิติ มีคนตระหนักเพียง 17.8% เท่านั้น และ มีผู้ป่วยที่มีภาวะ LDL สูง แต่ไม่ได้รับยาอยู่จำนวนมาก ในผู้ป่วยที่ได้รับยาแล้วมีประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น (57.6) ที่สามารถควบคุมค่า LDL ให้เป็นไปตามเป้าหมายการรักษา
ขอบคุณรูปภาพจาก : เว็บไซต์ http://www.thefilipinodoctor.com
LDL ร้ายกาจอย่างไร
เมื่อ LDL ที่ล่องลอยอยู่ในเลือด แทรกตัวเข้าสู่เนื้อเยื่อของเอนโดทีเลียม (endothelium) ที่หลอดเลือด และเจอกับอนุมูลอิสระ จะเกิดปฎิกิริยา ออกซิเดชันขึ้น กลายเป็น ออกซิไดซ์-LDL (Oxidize-LDL)
โมโนไซท์ (Monocyte) ในกระแสเลือดจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ผนังหลอดเลือดแล้วเปลี่ยนเป็นแมคโครฟาก (Macrophages) แมคโครฟาก จะมาจับกิน ออกซิไดซ์-LDL เกิดเป็นโฟมเซลล์ (Foam cell)
โฟมเซลล์ คือ เจ้าแมคโครฟากที่มีไขมันสะสมอยู่ในเซลล์ปริมาณมากๆ แล้วโฟมเซลล์จะกระตุ้นเกิดการอักเสบของหลอดเลือดอยู่เรื่อยๆ ซึ่งการอักเสบเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด ผนังหลอดเลือดมีความแข็ง หนาตัวขึ้น เสียความยืดหยุ่น รูของหลอดเลือดตีบแคบลง การที่หลอดเลือดตีบแคบลงอาจเป็นผลให้เกิดการขาดเลือดของเนื้อเยื่อที่ต้องได้รับเลือดจากหลอดเลือดนั้น หากเกิดการฉีกออกของกล้ามเนื้อเรียบที่คลุมไขมันเอาไว้ เกร็ดเลือดก็จะทำงานเพื่อมาปิดปากแผล และกระตุ้นให้สร้างลิ่มเลือด นำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดอย่างเฉียบพลันค่ะ
เราพบว่า การที่มีระดับของ LDL ที่ลดลง มีความสัมพันธ์กับการเกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจที่ลดลงค่ะ
โดยสรุป สำหรับ คนทั่วไป
Total Cholesterol ควร < 200 mg/dL
LDL Cholesterol ควร < 100 mg/dL
HDL Cholesterol ควร > 40 mg/dL
Triglycerides ควร < 150 mg/dL
หลังอ่านบทความแล้ว อย่าลืมไปตรวจสุขภาพ ระมัดระวังภาวะไขมันในเลือดสูงกันด้วยนะคะ Jaslyn เป็นห่วง
อ้างอิง
- การวิจัยศึกษา เรื่อง Prevalence of Dyslipidemia and Management in the Thai Population, National Health Examination Survey IV, 2009.
- เอกสาร เรื่อง เมแทบอลิซึมของไลโปโปรตีน ของ ดร.นพ. ภัทรบุตร มาศรัตน ภาควิชาชีวเคมีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- ขอขอบคุณรูปภาพจาก thefilipinodoctor.com
Share this: