เมื่อ “แบคทีเรีย” พา “อ้วน”
ฉันไม่ได้อยากกินน้ำตาล แบคทีเรียของฉันต่างหากที่อยากกิน
ทราบมั๊ยคะว่า แบคทีเรีย ทำให้ อ้วน ได้?
แบคทีเรียสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มักถูกมองข้าม หลายคนอาจจะคิดว่าอยู่ตัวคนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว แต่ไม่จริงหรอกค่ะ ทั้งบนผิวหนัง และในร่างกายของเรานั้นมีแบคทีเรียอยู่ร่วมกันกับเรามากถึง 100 ล้านล้านเซลล์ (เรียกว่าเยอะจนไม่แน่ใจว่าแบคทีเรียมาอาศัยเราอยู่ หรือแบคทีเรียเป็นเจ้าถิ่นคอยคุมเรากันแน่) มีการประมาณว่า หากเรานำแบคทีเรียบนร่างกายทั้งหมดมาชั่งรวมกัน จะมีน้ำหนักถึง 1.36 กิโลกรัม เลยค่ะ ซึ่งแบคทีเรียที่อยู่กับเรานั้น ก็จะมีทั้งแบคทีเรียที่ดี และแบคทีเรียไม่ดี คอยก่อโรค ซึ่งเราต้องคอยบริหารจัดการอยู่เสมอนะคะให้เจ้าแบคทีเรียที่ดีมีปริมาณมากกว่า เพราะหากแบคทีเรียก่อโรคมีปริมาณมากกว่าเมื่อไหร่ ก็เหมือนแก็งค์อันธพาลครองเมืองเลยค่ะ ร่างกายเราก็จะเริ่มป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ตกขาว ภูมิแพ้ รวมถึงโรคอ้วน ฯลฯ
ความสัมพันธ์ของ แบคทีเรีย กับ ความอ้วน
ความอ้วนนั้นไม่ได้มีปัจจัยมาจากการที่เรากินมาก หรือออกกำลังกายน้อยเพียงเท่านั้น ในบางกรณีความอ้วนยังมีความสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น พันธุกรรม ประเภทของอาหารที่กิน โรค ความเครียด ไลฟ์สไตล์ รวมถึง ความสมดุลในปริมาณ,ชนิดของแบคทีเรียในร่างกาย (ใช่ค่ะ แบคทีเรีย ทำให้ อ้วน ได้ อ่านแล้วรู้สึก เฮ้ย จริงดิ! แบคทีเรียนี่นะ)
มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า ปริมาณ Bifidobacteria ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกาย จะมีปริมาณลดลงเมื่อมีการบริโภคอาหารไขมันสูงอย่างต่อเนื่อง และพบว่าการรับประทานอาหารไขมันสูง จะทำให้ Gut permeability เพิ่มสูงขึ้น แล้วส่งผลให้ระดับของ ไลโปโพลีแซคคาไรด์ ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งนำไปสู่กระบวนการอักเสบ
นอกจากนี้ยังพบว่า ในทางเดินอาหารของคนที่เป็นโรคอ้วน จะมีสัดส่วนของแบคทีเรีย เฟิร์มมิคิวติส (Firmicutes) มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ แบคทีรอยดิส (Bacteroidetes) และสอดคล้องกันกับการศึกษาในหนูที่เป็นโรคอ้วน ก็พบว่าจำนวนประชากรของ แบคทีเรีย เฟิร์มมิคิวติสจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ แบคทีรอยดิส มีประชากรลดลง และจากการสำรวจในกลุ่มคนที่กินคาร์โบไฮเดรตน้อย หรือจำกัดปริมาณแคลอรี พบว่า น้ำหนักที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับ ปริมาณของ แบคทีรอยดิส ที่เพิ่มขึ้น และพบว่า คนที่เป็นโรคอ้วน จะพบ ความหลากหลายของสายพันธุ์แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารน้อยกว่า คนที่ผอม
และนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า แบคทีเรียในทางเดินอาหาร มีผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วย
“ฉันไม่ได้อยากกินน้ำตาล แบคทีเรียของฉันต่างหากที่อยากกิน”
อันนี้แปลคำพูดจาก เภสัชกร ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นวิทยากรท่านหนึ่ง ได้กล่าวไว้ ในงานอบรมวิชาการ และสะดุดใจแอดมินมาก จนต้องไปหาข้อมูลว่า จริงหรือไม่?
มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ความหิว ของเรา มีความสัมพันธ์กับ แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร โดยพบว่า ในปัสสาวะของคนที่ชอบกินช็อคโกแลต และคนที่ไม่ชอบกินช็อคโกแลต มีแบคทีเรียในปัสสาวะที่ไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่ควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมือนกัน
มีบางการศึกษาพบว่า Probiotic หรือ แบคทีเรียที่ดีต่อร่างกาย เช่น Lactobacillus casei มีผลส่งเสริมอารมณ์ในทางบวก
แบคทีเรีย ควบคุมพฤติกรรมการกินของเราจากหลายกลไก ได้แก่ กลไกการให้รางวัล (reward pathway), สร้างสารที่ส่งผลต่อความรุ้สึกและอารมณ์, กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขึ้นของต่อมรับรสที่ลิ้น, สร้างสารสื่อประสาทที่สามารถกระตุ้น Vagus nerve (Vagus nerve มีความเกี่ยวข้องกับ พฤติกรรมการกิน และ น้ำหนัก พบว่าหากมีการบล็อค Vagus nerve จะทำให้น้ำหนักลด จนเกิดโรคอะนอร์เล็กเซียได้)
แบคทีเรียทำให้อ้วนได้อย่างไร?
แบคทีเรียที่ไม่ดีในลำไส้บางสายพันธุ์ มีความสัมพันธุ์กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผนังลำไส้เล็ก ทำให้มีจำนวน Villi ในทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ร่างกายสามารถย่อยและได้รับพลังงานจากอาหารได้มากขึ้น เท่านั้นไม่พอ แบคทีเรียเหล่านี้ ตัวมันเองสามารถย่อยอาหารบางอย่างที่ร่างกายเราย่อยไม่ได้ แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ ดังนั้นคนที่มีแบคทีเรียเหล่านี้อยู่มากจึงพลอยได้รับพลังงานเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
แบคทีเรียเหล่านี้ยังไปยับยั้ง fasting-induced adipose factor (FIAF) จึงส่งผลให้มีการเก็บสะสมไขมันในเนื้อเยื่อไขมันเพิ่มขึ้น และแบคทีเรียที่ไม่ดียังสามารถสร้างสารพิษ Endotoxin ขึ้นมา แล้วกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ได้อีกด้วย
วิธีบริหารจัดการแบคทีเรีย?
แบคทีเรียที่ไม่ดีต่อร่างกาย และส่งผลให้อ้วน หากเรากินอาหารที่มีไขมันสูง และขนมหวาน น้ำตาลมันก็จะเจริญเติบโตดีค่ะ แต่หากเราอยากจะมีร่างกายที่ดี เราต้องให้แบคทีเรียที่ดี เช่น แลคโตบาซิลลัส, ไบฟิโดแบคทีเรีย เป็นผู้นำ ซึ่งเราสามารถสนับสนุนแบคทีเรียที่ดีได้ โดยเลือกรับประทานอาหารที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ดี และดูแลสุขภาพจิตใจค่ะ
- รับประทานแป้งไม่ขัดสี ธัญพืชไม่ขัดสี เพราะอาหารกลุ่มนี้มีเส้นใยสูง แบคทีเรียที่ดีชอบอาหารมีเส้นใยค่ะ
- รับประทานผัก เช่น กระเทียม ต้นหอม หัวหอม กะหล่ำ บรอกโคลี กระเจี๊ยบมอญ และผลไม้ แก้วมังกร ส้มโอ น้อยหน่า ทับทิม พืชตระกลูเบอร์รี่
- ถั่ว เพราะ มีใยอาหารสูง โปรตีนที่ดี และไขมันที่ดีต่อร่างกาย
- งดการดื่มสุราเป็นประจำ หากจะดื่มเปลี่ยนเป็นไวน์แทน เพราะ มีแบคทีเรียที่ดีบางสายพันธุ์ชอบสารโพลีฟีนอลในไวน์ แต่ต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสมนะคะ
- ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ลดความเครียด ลดความกดดัน
- รับประทานโยเกิร์ต เพิ่มประชากรแบคทีเรียที่ดี ควรเลือกแบบรสธรรมชาติ, ไขมันต่ำ มีการระบุว่า “Live Culture” หรือ “Active Culture” เพื่อบ่งบอกว่าแบคทีเรียที่ดียังมีชีวิตอยู่
หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้ว อย่าลืม ไปบริหารจัดการ แบคทีเรียในทางเดินอาหารของเรากันนะคะ
อ้างอิง
- บทความ เรื่อง Human gut microbes associated with obesity
- บทความ เรื่อง The role of Gut Microbiota in the development of obesity and Diabetes
- งานวิจัย เรื่อง Modulation of gut microbiota during probiotic-mediated attenuation of metabolic syndrome in high fat diet-fed mice
- บทความ เรื่อง Impact of the gut microbiota on inflammation, obesity, and metabolic disease
- บทความ เรื่อง Is eating behavior manipulated by the gastrointestinal microbiota? Evolutionary pressures and potential mechanisms
- หนังสือ Micro biota อวัยวะที่ถูกลืม โดย พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล
Share this: