Coenzyme Q10 คือ อะไร ? มารู้จัก Coenzyme Q10 ให้ชัดก่อนเริ่มรับประทาน
Coenzyme Q10 คือ อะไร?
Coenzyme Q10 หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ Ubiquinone เป็นสารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายวิตามิน มีคุณสมบัติละลายได้ในไขมัน สามารถพบได้ทั่วไปในเซลล์ต่างๆ ในร่างกายของเราค่ะ และจะพบได้มากในเซลล์ของอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูง เช่น หัวใจ สมอง ตับ โดยปกติตามธรรมชาติร่างกายสามารถสร้าง Coenzyme Q10 ขึ้นได้เอง
โคเอนไซม์คิวเท็น จะทำหน้าที่เป็นตัวรับส่งอิเล็คตรอนในการหายใจระดับเซลล์ มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานระดับเซลล์ (สังเคราะห์ ATP ของไมโตรคอนเดรีย) Coenzyme Q10 จัดว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยปกป้องเยื่อหุ้มเซลล์ และไลโปโปรตีนในร่างกายจากการถูกทำร้ายของอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์
รับประทาน Coenzyme Q10 กันทำไม?
พบว่าเมื่ออายุมากขึ้น การสร้าง Coenzyme Q10 จะลดลง, ปริมาณ Coenzyme Q10 ในเซลล์ต่างๆก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้การสร้างพลังงานลดลงไปด้วย, เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์
ในผู้ป่วยที่รับประทานยาลดไขมันในกลุ่ม สแตติน (Statin) พบว่ายากลุ่มนี้สามารถลดระดับของโคเอนไซม์คิวเท็นในร่างกายลงได้ เนื่องจากขั้นตอนการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไขมันโคเลสเตอรอล จะมีผลยับยั้งการสร้างโคเอนไซม์คิวเท็นไปด้วย ซึ่งอาจจะมาสู่การขาดโคเอนไซม์คิวเท็น ทำให้มีภาวะปวดกล้ามเนื้อ แขน ขา อ่อนแรง โดยผลกระทบนี้จะเกิดได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงมีการแนะนำให้รับประทาน โคเอนไซม์คิวเท็นเสริม 100 – 200 มิลลิกรัม ในผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ เพื่อลดการเกิดผลกระทบดังกล่าว
โคเอนไซม์คิวเทนยังมีประโยชน์ในแง่ของ Anti-aging จากประสิทธิภาพในการเป็น Anti-oxidant และ มีแนวโน้มส่งผลดีต่อผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มีการศึกษาในโรคเกี่ยวกับ Neurodegenerative diseases เช่น พาร์คินสัน ผลสรุปออกมามีทั้งการศึกษาที่ได้ผล สามารถช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้ และไม่ได้ผล, การศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 1 โดยให้รับประทาน โคเอนไซม์คิวเท็น 100 mg ต่อ วัน นาน 3 เดือน พบว่า สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น และต้องการปริมาณยา อินซูลินลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับโคเอนไซม์คิวเท็น (Placebo) อย่างไรก็ตามการใช้โคเอ็นไซม์คิวเท็นในผู้ป่วยโรคต่างๆ เพื่อเป็นตัวเสริม ยังต้องการการศึกษาวิจัยมาสนับสนุนเพิ่มเติม เนื่องจากงานวิจัยส่วนใหญ่ยังทำในระยะเวลาสั้น กลุ่มตัวอย่างน้อย
การศึกษาในกลุ่มนักกีฬา พบว่า โคเอนไซม์คิวเท็มไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ สมรรถนะได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
พบว่าการรับประทาน Coenzyme Q10 ในรูปแบบอาหารเสริม ทำการศึกษาในผู้ที่มีสุขภาพดี สามารถเพิ่มระดับของ Coenzyme Q10 ใน พลาสมา, ไลโปโปรตีน และหลอดเลือดได้ แต่การเพิ่มระดับของ Coenzyme Q10 ในเนื้อเยื่อยังไม่มีผลที่ชัดเจน
ความปลอดภัยในการรับประทาน Coenzyme Q10?
อันนี้สำคัญ ก่อนจะรับประทานอาหารเสริมตัวไหน ต้องพิจารณาโรคร่วม และยาที่ใช้ประจำด้วยค่ะ
มีการศึกษาให้รับประทาน โคเอนไซม์คิวเท็นที่ ขนาดสูง คือ 1,200 มิลลิกรัม/วัน นาน 16 เดือน และ 600 มิลลิกรัม/กรัม นาน 30 เดือน ยังไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในบางคนอาจจะมีอาการดังต่อไปนี้ได้ค่ะ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร แสบร้อนกลางอก ไม่สบายท้อง มึนงง ปวดหัว ผื่นผิวหนัง และอาการข้างเคียงพบน้อยลงหากแบ่งรับประทาน 2-3 ครั้ง (ในกรณีรับประทานในขนาดสูง เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน) และอาจพบอาการนอนไม่หลับ ระดับปานกลาง ในผู้รับประทานเกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
ในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอเกี่ยวกับการรับประทานโคเอนไซม์คิวเท็น จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยง
ยาที่อาจเกิดอันตรกิริยาด้วย (ยาตีกัน) เช่น ยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด : วาฟาริน (Wafarin) มีผลลดประสิทธิภาพในการทำงานของยาวาฟาริน อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้
แหล่งอาหารที่มีโคเอนไซม์คิวเท็น
เนื้อวัว, เนื้อไก่, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันคาโนลา, ปลาเทราส์, งาดำ, บล็อคโคลี, ถั่วพิตาชิโอ, ไข่, สตรอเบอร์รี่
ขนาดรับประทาน
ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับคนทั่วไป คือ 30 มิลลิกรัม/วัน
สำหรับผู้ที่เป็นโรคชรา หรือเป็นโรคอื่นๆควรรับประทาน 50 – 100 มิลลิกรัม/วัน
อ้างอิง
- บทความ Coenzyme Q10 ของ Oregonstate University
- บทความ โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10) คืออะไร??? กินไปทำไม??? โดย เภสัชกรอุทัย
- บทความ โคเอนไซม์ Q10 โดย ศ.ดร.นพ.ธัมม์ทิวัตถ์ นรารัตน์วันชัย
- บทความ Coenzyme Q10 – Topic Overview
Share this: