บทความนี้จะเป็นบทความตอนยาวมีหลายตอนนะครับ โดยตอนนี้จะเป็นบทนำเพื่อทำความเข้าใจชั้นผิวหนังและเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆในผิวหนังเราก่อน และตอนต่อมาๆจะเป็นการพูดถึงผลของจุลินทรีย์ในเครื่องสำอางต่างๆ และปิดท้ายด้วยการควบคุมคุณภาพเครื่องสำอางด้วยมาตรฐานทางจุลชีววิทยานะครับ
เนื่องจากเครื่องสำอางส่วนใหญ่ใช้กับผิวภายนอก ดังนั้นก่อนที่จะมาพูดถึงจุลินทรีย์ชนิดต่างๆในเครื่องสำอาง เรามาทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติและโครงสร้างของผิวหนังกันคร่าวๆก่อนนะครับ
จุลินทรีย์คืออะไร
จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่มองด้วยตาเปล่า ตัวอย่างของจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย, รา, ยีสต์, อาร์เคีย, โปรโตซัว, รวมถึงไวรัส และ ไวรอยด์ อย่างไรก็ตามจุลินทรีย์ตามผิวหนังมักเป็นพวกแบคทีเรียและเชื้อรา ดังนั้นคำว่าจุลินทรีย์ในบทความนี้จึงหมายถึงแบคทีเรียและเชื้อราเป็นหลักนะครับ
โครงสร้างผิวหนังกับเชื้อจุลินทรีย์
ผิวหนังเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ของร่างกาย มีน้ำหนักรวมประมาณ 4 กิโลกรีม ปกคลุมพื้นที่ผิว 1.8 ตารางเมตร ผิวหนังมีความสำคัญหลายอย่างต่อร่างกาย อาทิ เช่น ป้องกันสิ่งแปลกปลอม, ช่วยรักษาและควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย, เก็บกักความชุ่มชื้น และป้องกันการกระแทกต่ออวัยวะภายใน ผิวหนังแบ่งได้เป็น 3 ชั้น ได้แก่
- ชั้นหนังกำพร้า (epidermis)
- หนังแท้ (dermis)
- ชั้นไขมัน (subcutaneous tissue)
ในชั้นหนังกำพร้า (epidermis) ยังแบ่งย่อยออกเป็นหลายชั้น ชั้นนอกสุดของชั้นหนังกำพร้าเรียกว่าชั้นขี้ไคล (stratum corneum) ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนังที่ไม่มีนิวเคลียส และมีเคอราติน (keratin) เป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ปกป้องร่างกายจากสภาวะแวดล้อมได้ดี ที่ผิวชั้นนี้รวมทั้งตามรูขุมจะพบจุลินทรีย์ได้หลากหลายกลุ่ม ได้แก่
- กลุ่ม Propionibacterium ได้แก่ P.acne (ทำให้เกิดสิว), P.granulosum และ P.avidum
- กลุ่ม Micrococcaceae ได้แก่ Staphylococus epidermidis และพวก Aerobic coryneform
- กลุ่มเชื้อยีสต์ ได้แก่ Malassezia furfur (ทำให้เกิดเกลื้อน)
สำหรับปริมาณและชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ลักษณะผิวของแต่ละคน นอกจากนี้ ผิวหนังแต่ละบริเวณก็มีปริมาณและชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆแตกต่างกันด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าบนผิวหนังของเราจะมีเชื้อจุลินทรีย์มากมายหลายชนิด แต่ผิวหนังชั้นขี้ไคล (stratum corneum) ของเราก็มีความแข็งแรง แห้ง มีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆ (pH ของผิวหนังจะอยู่ที่ประมาณ 4.1 – 6.8 ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคนครับ) ซึ่งไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ประกอบกับผิวหนังยังมีวงจรการหลุดลอกของผิว (exfoliate) ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ออกไปได้ นอกจากนี้น้ำมันที่หล่อเลี้ยงผิวตามธรรมชาติยังมีสารที่มาสามารถต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้อีกด้วย ดังนั้นแม้ว่าผิวหนังเราจะมีจุลินทรีย์มากมาย แต่ธรรมชาติของผิวหนังเราในภาวะปกติก็มีกลไกการทำความสะอาดและรักษาสมดุลของชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่ผิวหนังอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากผิวหนังเราเสียสมดุลหรืออยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่น วัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทำให้ต่อมไขมันที่ผิวหนังบริเวณใบหน้า อก และหลัง สร้างไขมันมากกว่าปกติ ส่งผลให้เชื้อ P.acne เจริญเติบโตได้ดีและเกิดปัญหาสิวตามมา หรือ หากบริเวณไหนที่มีการอับชื้น เชื้อพวก Micrococcaceae จะเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นบริเวณที่มีการอับชื้นอยู่บ่อยๆ เช่น ตามข้อพับรอยพับต่างๆ เชื้อในกลุ่ม Micrococcaceae อย่าง Aerobic coryneform จะสามารถย่อยสลายเหงื่อและทำให้เกิดกลิ่นกายได้
จุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง
จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น เรารู้อยู่แล้วว่าผิวหนังของคนเรามีเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆอยู่แล้ว ดังนั้นเครื่องสำอางต่างๆคงไม่ต้องถึงกับปราศจากเชื้อจุลินทรีย์เลย (แม้แต่ยาเองก็ไม่ได้ปราศจากเชื้อครับ มีแค่ยาฉีดเท่านั้นที่บังคับว่าต้องตรวจไม่พบเชื้อเลย อย่างไรก็ตาม กฏระเบียบและข้อบังคับต่างๆของยาจะเข้มงวดกว่าเครื่องสำอางมาก) แต่เครื่องสำอางจะมีเชื้อปนเปื้อนได้มากระดับไหน ยอมรับให้พบเชื้อตัวไหนได้บ้างเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน
หากเชื้อจุลินทรีย์ที่ตรวจพบในเครื่องสำอางเป็นเชื้อก่อโรค ก็คงไม่สามารถยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นเชื้อไม่ก่อโรคละ?
หากเป็นเชื้อไม่ก่อโรคก็คงยอมรับให้มีการปนเปื้อนได้บ้าง แต่ระดับของการปนเปื้อนก็ไม่ควรสูง เพราะแม้ว่าเชื้อพวกนั้นจะเป็นเชื้อไม่ก่อโรค แต่ในบางสภาวะ อย่าง คนที่กำลังไม่สบาย คนที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน หรือผิวหนังอยู่ในสภาพไม่ปกติ เช่น เกิดบาดแผล หรือเกิดการถลอก ในสภาวะเหล่านี้แม้แต่เชื้อที่ไม่ก่อโรคก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้
แล้วเชื้อจุลินทรีย์ควรมีได้เท่าไรละ? เครื่องสำอางเค้าตรวจเชื้อกันไหมนะ? ถ้ามีเชื้อมากๆจะเกิดผลเสียอย่างไร? ต่างประเทศเค้าว่ายังไงกับเรื่องนี้บ้าง? ประเทศไทยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แบบนี้เครื่องสำอางจากธรรมชาติไม่เจอเชื้อจุลินทรีย์เต็มเลยหรอ? แล้วผลิตภัณฑ์ของ Jaslyn ในอนาคตจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร? ติดตามอ่านกันได้ในบทความตอนต่อๆไปนะครับ
อ่านต่อ :
เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 2 เชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์และการควบคุม
เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 3 ข้อกำหนดของพญาอินทรีย์
เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 4 ข้อกำหนดของ EU
เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 5 ข้อกำหนดของประเทศไทย
อ้างอิง :
บทความเรื่องจุลินทรีย์กับเครื่องสำอาง โดย ภญ.อารทรา ปัญญาปฏิภาณ นิตยสารข่าวสารด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2

Share this: