เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 2 เชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์และการควบคุม

เมื่อตอนที่แล้ว เราได้พูดถึงพื้นฐานโครงสร้างของผิวหนังและเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ตามผิวหนังกันไปแล้ว ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจว่า การพบเชื้อจุลินทรีย์ในเครื่องสำอางบ้างเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่คำถามอยู่ที่ว่า เชื้อตัวไหนที่เจอได้ไม่เป็นอันตราย ตัวไหนที่ห้ามเจอไม่งั้นอันตรายแน่ๆ และปริมาณชื้อที่พบในเครื่องสำอางควรมีมากน้อยเท่าไรจึงจะปลอดภัย

อย่างไรก็ตามการมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในเครื่องสำอางไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเราเท่านั้น แต่ยังสามารถก่อให้เกิดผลเสียโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นๆได้อีกด้วย

ผลของจุลินทรีย์ต่อผลิตภัณฑ์

ต้องบอกว่าทั้งจุลินทรีย์เอง และสารที่จุลินทรีย์ผลิตขึ้นสามารถเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ได้ หลายๆครั้งที่คุณลักษณะเหล่านั้นเราสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเองได้ เช่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสี, กลิ่น, ความข้น, ความหนืด, การเกิดฟอง และการแยกชั้น เป็นต้น

ผลเสียต่อสุขภาพของเรา

อย่างที่ทราบกันว่าผิวหนังและเยื่อบุอ่อนของเรามีกลไกป้องกันอันตรายจากจุลินทรีย์อยู่แล้ว แต่ระบบป้องกันนี้ก็มีขีดจำกัด และไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ตลอดเวลา ทำให้เครื่องสำอางที่มีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนสร้างปัญหาให้กับเราได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้ที่มีปัญหาผิวหนัง ผิวที่มีบาดแผลที่ผิวหนัง ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง และเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี แต่เคสที่มีปัญหามากที่สุดและเกิดอันตรายร้ายแรงบ่อยที่สุดมักเกิดกับเครื่องสำอางที่ใช้รอบดวงตา และแชมพู (แชมพูไหลเข้าตาครับ) เพราะผิวหนังรอบดวงตานั้นบอบบางมาก และในดวงตามีความชื้นสูง หากเครื่องสำอางนั้นมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคตัวโหดๆอย่าง Pseudomonas aeruginosa ปนเปื้อนอยู่ ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้

การควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์

เชื้อจุลินทรีย์มีอยู่มากมายทุกหนทุกแห่ง และเมื่อเชื้อจุลินทรีย์อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เช่น ในสภาวะที่มีอุณหภูมิ อาหาร ความชื้น ความเป็นกรด-ด่างที่พอเหมาะ ก็จะทำให้จุลินทรีย์เหล่านั้นเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนยากแก่การควบคุม อย่างไรก็ดี สำหรับวิธีการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะใช้กันหลักๆอยู่ 6 วิธี ได้แก่

  1. ควบคุมที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง โดยตรวจสอบปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ของวัตถุดิบที่รับเข้ามาตั้งแต่แรก ก่อนนำไปผลิต หากตรวจพบเกินกว่าที่รับได้ก็อาจมีส่งคืนหรือมีกระบวนกระบวนการฆ่าเชื้อเช่น นึ่งด้วยความร้อน หรือ ฉายรังสี ก่อนนำไปผลิต เป็นต้น
  2. ดูแลรับระบบน้ำที่ใช้ในการผลิตให้ดี ความจริงก็คือว่าแหล่งของการปนเปื้อนของเชื้อที่พบบ่อยมากที่สุดคือน้ำที่ใช้การผลิต (ตอนอยู่ในน้ำน่ะ มันไม่เยอะหรอก แต่พอมันอยู่ในผลิตภัณฑ์แล้วออกลูกออกหลานเต็มไปหมดนี่สิ) ดังนั้นการออกแบบระบบน้ำให้สามารถทำลาย ยับยั้งหรือคัดกรองเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆออกไปได้ ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ไปได้มากทีเดียว ตัวอย่างของการออกแบบระบบดังกล่าวก็อย่างเช่น ใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis, ติดตั้งหลอด UV เพื่อฆ่าเชื้อภายในท่อน้ำ, ออกแบบท่อที่ใช้ให้มีความลาดเอียงเพื่อป้องกันน้ำขัง, ทำระบบน้ำหมุนเพื่อให้น้ำมีการไหลเวียนตลอดเวลา, ควบคุมอุณหภูมิของน้ำในระบบให้ไม่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น
  3. มีกรรมวิธีการผลิตและการบรรจุที่ได้มาตรฐาน เช่น มีมาตรฐาน GMP ในการผลิต, มีระบบกรองอากาศในอาคารผลิต, ระบบที่ใช้ในการผลิตมีระบบ air lock, พนักงานที่เข้าไปสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ต้องสะอาด แต่งกายเหมาะสม และผ่านการอบรมเรื่องมาก่อน เป็นต้น
  4. ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ยกตัวอย่างเช่น ใส่สารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ในตัวเองได้อยู่ในตำรับ ซึ่งสารนั้นอาจเป็นสารออกฤทธิ์หรือสารช่วยในตำรับก็ได้ เช่น ethanol, propylene glycol เป็นต้น หรืออาจออกแบบให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีสัดส่วนของน้ำมันและไขมันในปริมาณที่สูงทำให้ยากแก่การเจริญเติบโตของเชื้อ หรืออาจใช้วิธีปรับช่วง pH ของผลิตภัณฑ์ให้ไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก็ได้
  5. ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์หลังจากเปิดใช้ไปแล้ว เช่น บรรจุภัณฑ์ระบบปั๊มสูญญากาศ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ระบบ Air lock 2 ชั้น เป็นต้น
  6. ใส่การกันบูดในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม สารกันบูดบางชนิดมีอันตรายสูง เช่น Mercury compound จึงมีการจำกัดการใช้ หรือการกันบูดอย่าง Paraben ก็มีการโจมตีกันมากถึงเรื่องความเสี่ยงในการทำให้เกิดมะเร็งเต้านม อีกทั้ง Paraben หลายตัว อย. ก็ไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว (Paraben ตัวที่ห้ามใช้แล้ว เคยเขียนไว้ในบทความเรื่องนี้ครับ >>>>> การใช้ Paraben ในเครื่องสำอาง) ผู้ผลิตเครื่องสำอางหลายรายจึงเลี่ยงไปใช้สารกันบูดที่มีอันตรายน้อยกว่าแทน และผู้ผลิตหลายรายก็เริ่มหันไปให้ความสนใจกับวิธีการป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ด้วยวิธีอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อที่จะได้ใส่สารกันบูดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือบางเจ้าก็เคลมว่าไม่ใส่เลย (แต่การที่เคลมว่าไม่ใส่เลยต้องดูดีๆนะครับ เพราะมีเยอะมากๆที่เคลมว่าไม่ใส่เลย แต่พอไปตรวจจริงๆแล้วปรากฏว่าตรวจเจอสารกันบูด ก็จะอ้างว่าตัวที่ใส่นั้นไม่ได้ตั้งใจจะใส่เป็นสารกันบูด แต่ให้มันทำหน้าที่อื่นในตำรับแทน เช่น มันอาจจะมีกลิ่นนิดหน่อย ก็ไปบอกว่าไม่ได้ใส่เพื่อเป็นสารกันบูดนะ แต่ใส่เพื่อแต่งกลิ่นต่างหาก ดังนั้นผลิตภัณฑ์นี้เคลมแบบนี้ได้ ไม่ผิด เป็นซะอย่างนั้นไป เอาจริงๆ มันมีวิธีเล่นแร่แปรธาตุเยอะครับ)

6 วิธีเป็นวิธีที่ผู้ผลิตมักใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเชื้อจุลินทรีย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ผลิตทุกรายจะใช้ทุกวิธีนะครับ บางรายก็ใช้แค่วิธีเดียว แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วต้องไม่พบเชื้อในปริมาณที่สูงเกินกำหนดหรือเชื้อตัวที่ก่อโรคอันตรายครับ

จะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องสำอางนั้นมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายหรือเปล่า

ถ้าเป็นคนธรรมดาคงไม่สามารถตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองได้ (ถ้าจะโมๆเอาอุปกรณ์มาทำเองที่บ้านก็พอได้ครับ แต่คงต้องมีอบรมกันก่อน คนธรรมดาที่ไม่มีความรู้เลยคงทำไม่ได้) แต่ถ้ามีจุลินทรีย์ปนเปื้อนเยอะมากๆ เราสามารถสังเกตได้จากตัวลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้ครับ

  1. กลิ่นเปลี่ยนไป เช่น มีกลิ่นบูดเกิดขึ้น
  2. สีของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนไป
  3. ความหนืดเปลี่ยน เช่น จากข้นๆก็กลายเป็นเหลว
  4. มีฟองเกิดขึ้นที่ผลิตภัณฑ์
  5. เครื่องสำอางมีการแยกชั้น
  6. เกิดชั้นน้ำใสๆแยกตัวออกมา

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าหากเกิดลักษณะดังกล่าวข้างต้นจะหมายความว่าเครื่องสำอางมีจุลินทรีย์ปนเปื้อนเสมอไปนะครับ ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดจากความไม่คงตัวอื่นๆในตำรับที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ก็ได้

ถ้าหากพบเครื่องสำอางบูด แต่ผู้ผลิตบอกว่าไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติเพราะไม่ได้ใส่สารกันบูด แบบนี้ควรใช้ต่อไหม?

อันนี้เป็นประสบการณ์จริงที่คนใกล้ตัวเจอ แล้วมาถามผม

ถ้าให้ผมตอบในฐานะคนทำเครื่องสำอาง ก็ขอตอบว่า เครื่องสำอางไม่ได้ใส่สารกันบูด ก็ไม่ได้หมายความว่ามันต้องบูดครับ ถ้าตำรับหรือ Product มันดีจริงมันต้องไม่บูดครับ ถ้ามันบูดแปลว่ามันมีปัญหาทุกกรณีไม่ว่าจะใส่สารกันบูดหรือไม่ก็ตาม ที่เค้าบอกว่ามันบูดเพราะไม่สารกันบูดมันเป็นแค่การเล่น story เฉยๆครับ ก็ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ก็ต้องชมในเรื่องนี้ครับ แต่การที่จะทำแบบนี้ได้ branding ต้องแข็งพอสมควรครับ ถึงจะมีคนเชื่อ เอาจริงๆแล้ว การเอาเครื่องสำอางบูดมาทาหน้า เคสที่เกิดปัญหาจริงๆก็น้อยครับ ถ้าผิวหนังไม่ได้มีปัญหาหรือใช้รอบๆดวงตา เพราะถ้าไม่ได้มีแผลหรือเข้าตา กลไกการป้องกันตัวเองของร่างกายมักเอาอยู่ เว้นซะแต่ว่าเชื้อจะเยอะๆจริง หรือเจอเชื้อตัวโหดๆจริงๆ

แต่ถ้าให้ผมตอบในฐานะเภสัชกร ก็ขอบอกว่า ทิ้งๆไปเหอะครับ มันบูดก็คือมันเสีย ไม่ต้องคิดมาก อย่าไปเสียดายตังครับ อย่าเสี่ยงเลยจะเป็นการดีที่สุดครับ

ติดตามบทความ เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ได้ในตอนต่อๆไปนะครับ

ก่อนหน้า :

เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 1 บทนำเรื่องผิวๆ

อ่านต่อ :

เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 3 ข้อกำหนดของพญาอินทรีย์

เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 4 ข้อกำหนดของ EU

เชื้อจุลินทรีย์ กับ เครื่องสำอาง ตอนที่ 5 ข้อกำหนดของประเทศไทย

อ้างอิง :

บทความเรื่องจุลินทรีย์กับเครื่องสำอาง โดย ภญ.อารทรา ปัญญาปฏิภาณ นิตยสารข่าวสารด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2

 เชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์และการควบคุม

 

เพิ่มเพื่อน
Share this: