วิตามินในสกินแคร์ มีผลต่อผิวจริงไหม ตอนที่ 3 : Vitamin C

วิตามินตัวนี้ต้องเรียกว่าเป็นวิตามินยอดนิยมในสกินแคร์เลยค่ะ เป็นใครไปไม่ได้แน่นอน นั่นคือ วิตามินซี (Vitamin C) นั่นเอง

วิตามินซี ถูกนำมาใช้ในสกินแคร์เยอะมาก เรียกว่ามีแทบจะทุกรูปแบบ ทั้งเซรั่ม ครีม โฟมล้างหน้า สครับผิว มาสก์หน้า โดยเฉพาะในกลุ่มที่เน้นคุณสมบัติ “Whitening” เพิ่มความกระจ่างใส ลดจุดด่างดำ

วิตามินซี

วันนี้เราจะมาเล่าต่อเรื่องวิตามินในสกินแคร์ ตัวที่ 3 คือ วิตามินซี ค่ะ
วิตามินซี ที่ถูกนำมาใช้ในสกินแคร์มีหลายฟอร์มค่ะ (มันคือ วิตามินซีนั่นแหละค่ะ แต่หลายฟอร์มคือ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีเล็กน้อย เพื่อให้มีความคงตัวมากขึ้น หรือประสิทธิภาพที่ดีขึ้น) เช่น Ascorbic acid, Ascorbyl phosphate, Ascorbyl palmitate, Ascorbyl glucoside เป็นต้น

เหตุผลที่วิตามินซีถูกนำมาใช้กันมากในสกินแคร์กลุ่มที่เน้นความขาวกระจ่างใสนั้น เนื่องจากวิตามินซีมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี (Anti-oxidant) ,สามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดสีเมลานิน แล้วทำให้เกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ ได้ และพบว่าวิตามินซีมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ด้วยเนื่องจากสามารถ ลดการเกิดผื่นแดงที่ผิวหนังได้ (Erythema) นอกจากนี้ยังพบว่าวิตามินซีเป็นโคแฟกเตอร์ในการทำงานของเอนไซม์ Lysyl hydroxylase และ Prolyl hydroxylase ซึ่งเอนไซม์ทั้ง 2 ตัวนี้เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์คอลลาเจนชนิดที่ 1 และ คอลลาเจนชนิดที่ 3 (ซึ่ง คอลลาเจนชนิดที่ 1 และ 3 เป็นชนิดที่พบมากที่ผิวหนังค่ะ) วิตามินซีสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนคอลลาเจนในผิวหนัง และช่วยลดริ้วรอยได้จากการกระตุ้นกระบวนการทำงานของเอนไซม์ทั้ง 2 ตัวข้างต้น

มีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิตามินซีในรูปแบบทามากมายค่ะ โดยจะใช้ความเข้มข้นในการศึกษาอยู่ที่ประมาณ 3-17%

มีการศึกษาหนึ่งอยากจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการใช้วิตามินซีในรูปแบบทา

การศึกษาชื่อ Topical activity of ascorbic acid: from in vitro optimization to in vivo efficacy.
ตีพิมพ์ในวารสาร Skin Pharmacol Physiol ปี 2004

การศึกษานี้ใช้ วิตามินซี ในรูป Ascorbic acid ความเข้มข้น 3% ครีม ตั้งสูตรตำรับเป็น O/W (เค้าบอกว่า จากที่เค้าทดลองแบบ in vitro สารที่มีคุณสมบัติเป็น Hydrophilic คือ ชอบน้ำ ละลายน้ำได้ดี เช่น วิตามินซี หากตั้งสูตรตำรับเป็น O/W จะปลดปล่อยออกมาได้ดีกว่าการตั้งสูตรตำรับแบบ W/O) ให้อาสาสมัครทดลองทา Ascorbic acid 3% ครีม นาน 1 สัปดาห์ พบว่า Ascorbic acid 3% ครีม สามารถลดการเกิดอนุมูลอิสระที่ผิวหนังจากการถูกกระตุ้นด้วย รังสี UVA ได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทา Sodium ascorbyl-2-phosphate 3% ครีม (ซึ่งเป็นวิตามินซีในรูปที่เสถียรกว่า) และหลังจากให้อาสาสมัคร 25 คน ทดลองทา Ascorbic acid 3% ครีม นาน 1 เดือน แล้วเปรียบเทียบผลระหว่างหน้าด้านที่ทาครีม กับไม่ทาครีมพบว่า dermal papillae ด้านที่ทาครีมมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Dermal papillae เป็นชั้นของผิวหนังที่อยู่ระหว่างหนังแท้ : Dermis และชั้นหนังกำพร้า : Epidermis เมื่ออายุมากขึ้นพบว่า จำนวนของ Dermal papillae จะลดลง) และเมื่อทดลองทา Ascorbic acid 3% ครีม นาน 12 สัปดาห์ พบว่า สามารถลดริ้วรอยบนใบหน้าได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ยังมีการศึกษาอื่นๆอีกหลายการศึกษาที่ใช้ความเข้มข้น ของวิตามินซีสูงกว่าที่ 5-17% ทดลองเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน พบว่า

  • สามารถลดความแก่ของผิวหน้าจากการถูกกระตุ้นด้วยแสงแดดได้ (Photoaging)
  • ปรับสภาพผิวให้เรียบเนียนขึ้น
  • เพิ่มการสร้างคอลลาเจนและอิลาสตินในชั้นผิวหนังได้

สิ่งที่ต้องระมัดระวังการตั้งตำรับสกินแคร์ที่มีวิตามินซีอยู่ คือ เรื่อง “ความคงตัว” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้วิตามินซีในรูป “Ascorbic acid” เพราะ ไวต่อออกซิเจนในอากาศ จะถูกออกซิไดซ์กลายเป็นสารที่มีสีเหลือง ซึ่งทำให้รู้สึกไม่น่าใช้ (นั่นเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ตำรับเครื่องสำอาง และยาที่มีวิตามินซีอยู่จึงมักทำเป็นสีออกเหลืองๆ ส้มๆ ครีมเพราะหากเกิดการเปลี่ยนสภาพจะไม่ค่อยรู้สึก)
ดังนั้นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้จึงมักทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้น้อยเพื่อลดการเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชัน, มีการนำวิตามินซีไปทำเป็นรูปแบบ encapsulation หรือ ไลโปโซม เพื่อเพิ่มความคงสภาพ, ปรับช่วง pH ของสูตรตำรับให้เหมาะสม ค่าpH ต้องเป็นกรด แต่หากเป็นกรดมากเกินไปก็จะไม่ดีต่อผิว ระคายเคืองผิวได้ค่ะ เพราะ pH ของผิวอยู่ที่ 5.5, ใช้น้ำในสูตรตำรับให้น้อย นอกจากนี้วิตามินซียังไวต่อแสง จึงต้องใช้บรรจุภัณฑ์ทึบแสง หรือขวดแก้วสีชา และยังไม่หมดค่ะ วิตามินซีถูกสลายด้วยความร้อนได้ด้วย ดังนั้นก็ต้องระวังในเรื่องการควบคุมอุณหภูมิหรือ ใช้เวลาในการสัมผัสความร้อนให้น้อยที่สุดค่ะ กลุ่ม derivatives ของวิตามินซี เช่น Ascorbyl phosphate ก็จะมีความคงตัวมากกว่า Ascobic acid และซึมผ่านผิวหนังได้ดีกว่า

โดยรวมๆแล้ว วิตามินซีในรูปแบบทา มีประสิทธิภาพที่ดีค่ะ ในเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ลดความหมองคล้ำ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความคงสภาพ เพราะไวต่อการเกิดปฎิกิริยาทั้ง ออกซิเจน น้ำ แสง ความร้อน

แล้วพรุ่งนี้เราจะมาต่อกันกับวิตามินยอดฮิตในสกินแคร์ตัวสุดท้ายนะคะ คือ วิตามินอี ค่ะ

ก่อนหน้า

วิตามินในสกินแคร์ มีผลต่อผิวจริงไหม ตอนที่ 1 : Vitamin A
วิตามินในสกินแคร์ มีผลต่อผิวจริงไหม ตอนที่ 2 : Vitamin B3

อ่านต่อ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมาจนถึงตอนที่ 3 นะคะ

ส้ม-วิตามินซี

เพิ่มเพื่อน
Share this: