ก่อนหน้านี้ จากงาน in-cosmetic 2016 ที่จัดที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เราเคยเก็บรูปภาพบรรยากาศงาน มาเล่าให้เพื่อนๆฟังว่า เทรนด์ของเครื่องสำอางที่กำลังจะมา มี 3 เรื่องหลัก คือ
- เครื่องสำอางฮาลาล เพราะตลาดในตะวันออกกลางมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี
- เครื่องสำอางฝรั่งเศส,ส่วนผสมจากฝรั่งเศส (จริงๆ เรื่องความฮิตของแบรนด์ฝรั่งเศสในบ้านเรามีมานานแล้ว แต่กระแสตกไปพอสมควรจากกระแสเครื่องสำอางเกาหลี แต่ช่วงนี้รู้สึกว่า เครื่องสำอางสัญชาติฝรั่งเศสหลายแบรนด์กำลังเร่งเครื่องจนกระแสฝรั่งเศสเริ่มกลับมาอีกครั้งค่ะ เชื่อว่า เพื่อนหลายคนต้องมีผลิตภัณฑ์ กลุ่มน้ำตบ และน้ำแร่ยอดฮิตอยู่ในครอบครองแน่นอน)
- Anti-pollution ขอแปลตรงตัวเลยละกัน ว่า เทรนด์เครื่องสำอางต่อต้านมลภาวะ ซึ่งก็เริ่มเห็นกันบ้างแล้วในเครื่องสำอางที่ขายในบ้านเรา แต่ยังไม่เปรี้ยง บางคนน่าจะยังสงสัยกันอยู่ว่า Anti-pollution คือ อะไร? จะต้องใช้ เครื่องสำอาง Anti-pollution มั๊ย ?
Anti-pollution คือ อะไร? เทรนด์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร?
กิจกรรมต่างๆของมนุษย์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิด Pollution หรือ มลภาวะขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีค่ะ ว่ามลภาวะส่งผลต่อสุขภาพของเรา และล่าสุดพบว่า ในเมืองใหญ่ๆที่เกิดมลภาวะ ขนาดอนุภาคฝุ่นละอองมีขนาดเล็กมาก PM 2.5 (มาจาก คำว่า Particulate Matter 2.5) คือ ขนาดฝุ่นละออง ควัน ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 2.5 ไมครอน หรือ เล็กกว่านั้น
ซึ่ง เค้าพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เนี่ย เมื่อสัมผัสกับผิวหนังเราแล้ว สามารถแทรกตัวเข้าไปในผิวหนังชั้น Epidermis (ชั้นหนังกำพร้า) ของเราได้ แล้วไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ, ผิวแห้งกร้าน, ไปมีผลต่อเซลล์ของผิวหนัง แล้วไปกระตุ้นให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น ความกระชับ, มีผลต่อโครงสร้างที่ช่วยปกป้องผิวหนัง (skin barrier), ทำให้รูขุมขนอุดตัน และ กระตุ้นให้เกิดสิวได้
ในวงการผู้ผลิตสารสำคัญ (Active ingredients) จึงมีแนวคิดว่า จะต้องต่อสู้กับมลภาวะเพื่อปกป้องโครงสร้างที่ช่วยปกป้องผิวเรา – “To fight pollution we need to put up our own skin barriers!” โดยการหาสารสกัดจากพืชมาช่วยต่อสู้กับมลภาวะ
ซึ่งสารที่จะเป็น Anti-pollution ได้จะต้องเป็น สารสำคัญที่สามารถลดการเกาะติดผิวหนัง และการแทรกตัวของ เจ้า PM 2.5 เข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าได้ เท่านั้นค่ะ จึงจะตรงกำคำจำกัดความ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสารที่มีความสามารถเป็น Anti-pollution จะฟอร์มตัวเป็นฟิล์มบนผิวได้ค่ะ
เค้าจะทดลองกันโดยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มควบคุม ไม่ได้ทาสารสำคัญ 2. กลุ่มทดลอง กลุ่มนี้จะทาสารสำคัญที่มีความสามารถเป็น Anti-pollution หลังจากนั้นให้ทั้ง 2 กลุ่ม เอาผิวสัมผัสกับผงถ่าน (Activated Charcoal) ที่มีขนาดอนุภาค 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่า (ตาม concept) แล้วก็ล้างออก จากนั้นมาวัดความหนาแน่นของอนุภาคผงถ่านที่เกาะติดผิวกัน สารที่มีความสามารถเป็น Anti-pollution ได้ต้องมี ค่าความหนาแน่นของผงถ่านที่ยึดเกาะผิวน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญค่ะ
ตัวอย่างของสารสำคัญที่เป็น Anti-pollution ได้แก่ (อันนี้ไม่ได้โฆษณาให้ผู้ผลิตเจ้าไหนนะคะ มีหลายเจ้า)
- Phytofuse Renew
- ABS Moringa Pterygosperma Seed Extract (สารสกัดจากเมล็ดมะรุม)
- ACB Yerba Santa Glycoprotein PF
- Phyco AP
- City Guard+
- EXO-ptm
- Citystem™ เป็นต้น
Anti-pollution ดีอย่างไร?
ขอตอบโดยรวมนะคะ
สามารถลดความหยาบกร้านของผิวหนัง,ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น, ช่วยปกป้อง Skin barrier, ช่วยลดปัญหาของผิวที่ถูกกระตุ้นจากมลภาวะเช่น การอักเสบ ระคายเคือง และส่วนใหญ่มักเป็นสารที่มีฤทธิ์ Anti-oxidant อยู่ด้วย ค่ะ
เครื่องสำอาง Anti-pollution ในบ้านเรา … Anti-pollution จริงรึเปล่า?
ส่วนใหญ่ที่เห็นผ่านๆตา (เกือบทั้งหมด) ยังไม่ตรงกับคำจำกัดความของ Anti-pollution ค่ะ ส่วนใหญ่สารสำคัญที่ใช้ จะเป็น Anti-oxidant (ต้านอนุมูลอิสระ) เสียมากกว่า เช่น สารในกลุ่มวิตามินต่างๆ, สารสกัดจากพืชบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ หรือ การบอกว่าช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด UVB แล้วบอกว่าต่อต้านมลภาวะ แบบนี้ก็ถือว่าไม่ตรง concept, หรือ บางตัวบอกว่าช่วยเสริมความแข็งแรงของเกราะปกป้องผิวหนัง ให้ความชุ่มชื้น ลดริ้วรอย ลดจุดด่างดำ ลดการเกิดสิว อะไรแนวนี้ ถือว่า ไม่ตรง concept กับ Anti-pollution ทั้งสิ้นค่ะ เพราะ อาการพวกนี้เป็นอาการที่เกิดหลังจากถูกมลภาวะทำร้ายไปแล้ว แต่ สกินแคร์ ที่เป็น Anti-pollution ต้องปกป้องก่อนผิวถูกทำร้าย ไม่ใช่มาแก้ไข หรือ Repair อย่างที่เขียนไปข้างต้น Anti-pollution ต้องลดการเกาะติด และแทรกตัวของ PM 2.5 เข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าได้ค่ะ นอกนั้นไม่เข้าเกณฑ์ ไม่ตรง concept
Anti-pollution เหมาะกับใคร?
โดยส่วนตัวคิดว่า เหมาะกับคนที่อาศัย ทำงานในเมืองใหญ่ที่มีมลภาวะ เช่น กรุงเทพฯ, เชียงใหม่ ค่ะ ถ้าอยากจะใช้ก็ใช้ได้ แต่ไม่ได้จำเป็นมาก แต่หากเราไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ก็ให้เน้นการทำความสะอาดผิวหน้า โดยการใช้คลีนซิ่งเช็ดทำความสะอาดก่อนล้างหน้า แล้วล้างหน้าอีกครั้งด้วยโฟมล้างหน้า ที่บอกแบบนี้เพราะยังหางานวิจัยที่เทียบการทำความสะอาดโดยใช้คลีนซิ่งร่วมกับพวกโฟม/เจลล้างหน้า เทียบตรงๆ กับ การใช้ ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบ Anti-pollution ไม่เจอ และยังหางานวิจัยที่ไม่ได้ทำการทดลองโดยบริษัทผู้ผลิตสารสำคัญไม่เจอเหมือนกัน ใครมีสามารถนำมาแบ่งปันกันได้นะคะ
โดยสรุป
เครื่องสำอาง Anti-pollution ต้องลดการเกาะติด และแทรกตัวของ PM 2.5 เข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า เหมาะกับสาวๆในเมืองใหญ่ กลุ่มนี้เน้นช่วยลดความหยาบกร้านของผิว, เพิ่มความชุ่มชื้น, ลดปัญหาผิวจากการถูกกระตุ้นด้วยมลภาวะ
อ้างอิง
- http://activeconceptsllc.com/wp-content/uploads/2016/06/Electronic-Anti-Pollution-Brochure-v3.pdf
- http://cosmetics.specialchem.com/product/i-sederma-croda-international-group-citystem
- เอกสารงาน in-cosmetic 2016 กรุงเทพฯ Spotlight on Anti-pollution
Share this: