วิธีเลือกซื้อผลไม้รถเข็นแบบง่ายๆ

หากย้อนกลับไปเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว เราจะพบเห็นพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นขนมไทย ฮอกด็อก ไส้กรอก ปลาหมึกย่าง น้ำตาลสด รวมถึงผลไม้รถเข็น

บางอย่างเช่น ปลาหมึกย่างรถเข็น ก็ดูจะน้อยลงไปมาก หรือ รถเข็นน้ำตาลสด ก็เป็นของหายากจนแทบหาซื้อกินไม่ได้แล้ว แต่ผลไม้รถเข็นเป็นอะไรที่ยังอยู่คู่สังคมไทยมายาวนานอย่างยั่งยืน

อันที่จริงผลไม้รถเข็นก็เหมือนสินค้าชนิดอื่น ที่จรรยาบรรณและความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ผลิตและผู้ขายมีความสำคัญมาก อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผลไม้รถเข็นมักจะโดนโจมตีหลักๆอยู่ 3 เรื่องคือ

  1. เรื่องความสะอาด
  2. เรื่องการใช้ ขัณฑสกร (saccharin) เป็นสารให้ความหวาน
  3. การใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อให้ผลไม้ดูน่ารับประทาน

ซึ่งก็ต้องบอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่ดีและไม่เคยทำ 3 เรื่องที่เป็นประเด็นที่ถูกโจมตีอยู่บ่อยๆเลย ในขณะเดียวกันก็มีพ่อค้าแม่ค้าบางคน ทำสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งอาจจะทำไปเพราะความไม่รู้หรือการขาดความตระหนักในความปลอดภัย

น่าเศร้าที่ผู้บริโภคธรรมดาทั่วไปแทบไม่สามารถตรวจสอบได้เองว่าเลยผลไม้ที่กินนั้นปลอดภัยหรือเปล่า ยกตัวอย่างนะครับ หากเป็นเรื่องความสะอาด หากเราอยากรู้ว่าสะอาดจริงไหม เราก็ตรวจเชื้อ การที่เราจะตรวจเชื้อได้ อย่างน้อยๆ เราก็ต้องมี plate, มีอาหารเลี้ยงเชื้อ และมีตู้บ่มเพื่อเพาะเชื้อ ถ้าถามว่าเราจะดัดแปลงเอาของใช้ในบ้านมาทำแทนได้ไหม ก็ขอบอกว่า พอได้ครับ แต่จะมีสักกี่คนที่มีความรู้และเทคนิคพอจะเพาะเชื้อได้ หรือการตรวจสอบ ขัณฑสกร (saccharin) และสารเคมีต่างๆ ก็ต้องมีเครื่องมือวิเคราะห์ราคาแพง อีกทั้งต้องใช้สารเคมีเพื่อใช้ในการตรวจสอบอีกมาก (แต่สารตัวไหนที่มักเจอปนเปื้อนบ่อยๆ ส่วนใหญ่มักจะมีชุดตรวจสำหรับรูปขายครับ ซึ่งตรวจได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป)

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอย่างเราๆก็ไม่ได้ถึงกับหมดหนทางไปซะทีเดียว จริงๆ มันก็พอมีวิธีสังเกตุ ง่ายๆ คร่าวๆ ว่าผลไม้รถเข็นที่เราซื้อมานั้นสะอาดและปลอดภัยหรือไม่ โดยให้สังเกตุดูจาก  6 อย่างนี้ครับ

วิธีเลือกซื้อผลไม้รถเข็นแบบง่ายๆ

  1. ผู้ค้าต้องใส่ใจความสะอาด
    จริงๆ การจะดูว่าผู้ค้าคนไหนใส่ใจผู้บริโภคหรือไม่ ดูง่ายๆโดยดูว่าผู้ค้าคนนั้นใส่ใจความสะอาดหรือไม่ครับ วิธีการดูก็คือ ดูว่ารถเข็นสะอาดไหม ตู้กระจกใส ไม่มีคราบหรือเปล่า มีฝุ่นละออง หรือรอยแตกร้าวที่กระจกไหม อุปกรณ์ มีด รวมถึงน้ำแข็งและเขียงที่ใช้นั้นสะอาดหรือเปล่า  มีการทำความสะอาดก่อนหรือหลังหั่นผลไม้ไหม ผ้าเช็ดอุปกรณ์สะอาดหรือเปล่า มือที่ใช้หยิบจับผลไม้สะอาดหรือเปล่า มีการใส่ถุงมือขณะสัมผัสกับผลไม้ไหมจริงๆ หลักการเรื่องความใส่ใจสามารถประยุกต์ใช้กับการดูครีมก็ได้นะครับ เพราะผมกล้าพูดได้ว่า ผมเคยอ่านประกาศเกี่ยวกับการตรวจพบสารอันตรายในเครื่องสำอางของ อย. ทุกฉบับ และผมพบว่าครีมที่ตรวจพบสารอันตรายจากการสุ่มตรวจทุกยี่ห้อ ไม่มียี่ห้อไหนเลยที่ใส่วันที่ผลิต วันหมดอายุ เลขที่ผลิต และสถานที่ผลิต มาครบทั้ง 4 อย่างเลย ยี่ห้อที่ตรวจพบมักขาดข้อมูลที่จำเป็นต้องมีบนกล่องหรือฉลากอันใดอันหนึ่งเสมอ ซึ่งการที่บอกข้อมูลมาไม่ครบนี้ ก็เป็นการบ่งบอกถึงความไม่ใส่ใจของผู้ผลิตได้เป็นอย่างดีครับ
  2. พยายามเลือกผลไม้ที่สดใหม่และตามฤดูกาล
    การเลือกผลไม้ตามฤดูกาลและสดใหม่จะช่วยเราได้มากในเรื่องสารกันบูด เพราะผู้ค้าไม่มีความจำเป็นต้องใส่สารกันบูดในผลไม้เหล่านั้น (แต่เอาจริงๆ คนที่ใส่สารกันบูดก็ยังมีอยู่ แต่ก็ถือว่าช่วยลดโอกาสเสี่ยงไปได้มากครับ) นอกจากนี้การกินผลไม้สดใหม่จะช่วยให้เรารับวิตามินและแร่ธาตุได้มากกว่าผลไม้ที่เก็บไว้นานแล้ว รวมถึงผลไม้หมักดองด้วยครับ
  3. หลีกเลี่ยงผลไม้หมักดอง
    ผลไม้หมักดองมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยมาก อีกทั้งผลไม้หมักดองส่วนใหญ่มักใส่สารเคมี เช่น สารโลหะหนัก สารกันบูด บอแร็กซ์ หรือสารเพิ่มความกรอบ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน
    สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างความดันโลหิตสูง หรือโรคไต ไม่ควรทานผลไม้หมักดอง เนื่องจากในกระบวนการหมักดองมักมีการใช้เกลือโซเดียมในปริมาณมาก ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และไตทำงานหนักขึ้น
  4. ระมัดระวังพวกเครื่องจิ้มต่างๆ
    ช้อนต้องคู่กับส้อมฉันใด ผลไม้ก็ต้องคู่กับพริกเกลือฉันนั้น แต่ก็ต้องระวังด้วยเพราะเครื่องจิ้มมักมีส่วนผสมของน้ำตาล เกลือ กะปิ และผงชูรส ซึ่งอาจทำให้ร่างกายได้รับเกลือและน้ำตาลในปริมาณมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างเบาหวาน ไต และความดัน
  5. ควรเลือกกินผลไม้ที่ไม่ใส่สี
    หลายๆครั้งที่มีการตรวจพบว่าสีที่เห็นไม่ใช่สีผสมอาหาร แต่เป็นสีย้อมผ้า ดังนั้นหากไม่ตรวจสอบได้ว่าสีที่ใช้เป็นสีผสมอาหารจริงหรือไม่ ก็ควรหลีกเลี่ยงไปเลยจะเป็นการดีที่สุด
  6. ดูว่ามีการใส่สารให้ความหวาน ขัณฑสกร (saccharin) หรือไม่
    วิธีการทดสอบ ขัณฑสกร ง่ายๆคือ ให้ลองกินดู หากกินแล้วมีรสขมติดในคอ เป็นไปได้ว่าผลไม้นั้นมีการใส่ ขัณฑสกร ในปริมาณมาก ซึ่งหากกินขัณฑสกรติดต่อกันนานๆอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ผลไม้รถเข็นเป็นอะไรที่หาซื้อได้ง่าย และราคาไม่แพง ทำให้ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างไม่เสื่อมคลาย แต่ผลไม้รถเข็นก็มักถูกโจมตีเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยอยู่เรื่อยๆ วิธีการแก้ปัญหาที่หลายคนนิยมใช้คือ ยอมจ่ายแพงและเสียเวลาขึ้นอีกหน่อย เพื่อไปหาซื้อผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งการซื้อในห้างสรรพสินค้าก็สามารถสร้างความมั่นใจได้มากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผัก ผลไม้ในห้างจะปลอดภัยเสมอไป เนื่องจากผลการสุ่มตรวจสารปนเปื้อนพวกยาฆ่าแมลง หลายๆครั้งพบว่าผัก ผลไม้ตามห้างไม่ได้มียาฆ่าแมลงปนเปิ้อนน้อยกว่าผักผลไม้ตามตลาดเลย และมักเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่นข่าวนี้ครับ >>>>> อึ้ง! ผักผลไม้มีตรา Q – ตราออแกนิก เจอสารพิษตกค้างอื้อ จี้ยกเครื่องการให้ตรา ดังนั้นก็ต้องบอกว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนที่ดีที่สุดครับ บางอย่างที่เราสามารถสังเกตุได้เล็กๆน้อยๆในเบื้องต้น เราก็ควรฝึกไว้สังเกตุไว้ เพราะมันช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่เราจะได้รับอันตรายจากความสกปรกและสารปนเปื้อนต่างๆได้เป็นอย่างดีครับ

4_%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b8%87%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%86_%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%8b%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%9c%e0%b8%a1%e0%b9%84

ขอบคุณ infographic จาก สสส. ครับ

เพิ่มเพื่อน
Share this: