Salbutamol คืออะไร เกี่ยวอะไรกับเร่งเนื้อแดง

จากข่าว กรมปศุสัตว์ ล่อซื้อพ่อค้าขายสารเร่งเนื้อแดง-อาหารสัตว์ผสมสารต้องห้าม ซึ่งมีการใส่ Salbutamol เป็นสารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์ วันนี้เราจะทำความเข้าใจกันนะครับ ว่า Salbutamol คืออะไร กินเข้าไปแล้วจะอันตรายไหม แล้วมันเร่งเนื้อแดงได้อย่างไร

Salbutamol คืออะไร

ซาลบูทามอล (Salbutamol) เป็นยาในกลุ่มเบต้า-2 รีเซฟเตอร์ (Beta- 2 receptor) มีฤทธิ์ทำให้หลอดลมเกิดการขยายตัว ปัจจุบันใช้เป็นยาขยายหลอดลมสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)  และใช้บรรเทาอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน

Salbutamol มีอาการข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร

Salbutamol มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะเล็กน้อย มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว

อย่างไรก็ตาม หากรับประทานแล้วมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็วแรงผิดปกติ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม อาเจียน ผื่นลมพิษ ผื่นคัน เกิดตะคริวกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้า บวมบริเวณใบหน้า ลำคอ, ลิ้น, ริมฝีปาก, ดวงตา, มือ, เท้า, ข้อเท้า หรือขาช่วงล่าง ความดันโลหิตสูงขึ้น ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที

Salbutamol มีข้อควรระวังอย่างไร

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา Salbutamol
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ เบาหวาน ลมชัก โพแทสเซียมในเลือดต่ำ และ pheochromocytoma ให้แจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาทราบก่อนทุกครั้ง และใช้ยานี้อย่างระมัดระวังภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร (ยานี้ถูกขับออกมากับน้ำนมของมารดาได้)

กินเนื้อที่มี Salbutamol เป็นสารเร่งเนื้อแดงจะเป็นอันตรายไหม

หากมี Salbutamol ตกค้างในเนื้อที่รับประทานอาจทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางคนอาจมีอาการเป็นลม หรือคลื่นไส้อาเจียนได้ และเป็นอันตรายมากแก่ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไฮเปอร์ไธรอยด์ และหญิงมีครรภ์

Salbutamol เร่งเนื้อแดงได้อย่างไร

Salbutamol ช่วยทำให้กล้ามเนื้อขยายตัว และเพิ่มการสลายตัวของไขมัน ทำให้เนื้อมีชั้นไขมันที่บางลง มีปริมาณเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น

นอกจาก Salbutamol ยังมีสารเร่งเนื้อแดงตัวอื่นอีกไหม

สารกลุ่ม beta-agonist ได้แก่ ซัลบูทามอล (Salbutamol), ซิมบูเทอรอล (Cimbuterol), เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), มาเพนเทอรอล (Mapenterol), แรคโตพามีน (Ractopamine), เคลนเพนเทอรอล (Clenpenterol), ไซมาเทอรอล (Cimaterol), คาบูเทอรอล (Cabuterol), มาบิลเทอรอล (Mabuterol), ทูโลบูเทอรอล (Tulobuterol), โบรโมบูเทอรอล (Bromobuterol), เทอบูตาลีน (Terbutaline) สามารถใช้เร่งเนื้อแดงได้ทั้งหมด และเมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายจะมีการแสดงอาการแสดงๆคล้ายๆกัน อย่างไรก็ตาม Salbutamol เป็นสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากใช้เป็นยาในมนุษย์ ทำให้หาซื้อได้ง่าย และมีปัญหาเรื่องการนำเข้าน้อยกว่า

วิธีสังเกตุว่าเนื้อที่เรากินมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือไม่

  1. หากหมูยังมีชีวิตอยู่ หมูตัวนั้นจะมีกล้ามเนื้อเด่นนูนคล้ายนักเพาะกาย โดยเฉพาะบริเวณสะโพก สันหลัง หัวไหล่ และหากหมูได้รับสารนี้ในปริมาณมาก หมูจะมีอาการสั่นอยู่ตลอดเวลา
  2. เนื้อจะมีสีแดงคล้ำมากกว่าปกติ
  3. เมื่อหั่นเนื้อทิ้งไว้ เนื้อที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะค่อนข้างแห้ง แต่ถ้าหากไม่มีสารเร่งเนื้อแดง จะพบน้ำซึมออกมาบริเวณผิวเนื้อ
  4. หมู 3 ชั้น ตามปกติแล้วจะมีเนื้อแดง 2 ส่วน ต่อมัน 1 ส่วน แต่สำหรับหมูใช้เร่งเนื้อแดงจะมีปริมาณเนื้อสูงถึง 3 ส่วนต่อมัน 1 ส่วน

 

อ้างอิง :

บทความเรื่อง สารเร่งเนื้อแดง (ซาลบูทามอล)(สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์) โดยศูนย์วิทยบริการ อย.

%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b9

เพิ่มเพื่อน
Share this: