มาดูแลลำไส้ใหญ่ของเรากันเถอะ

วันนี้ Jaslyn มีสถิติน่าสนใจ มาเล่าให้ฟังค่ะ
มีข้อมูลงานวิจัยบอกว่า คนที่ชอบรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไขมันมาก จะมีการถ่ายอุจจาระแค่ 1-2 ขีดเท่านั้น และอาหารเหล่านี้ใช้เวลาอยู่ในทางเดินอาหารตั้งแต่เริ่มเข้าปากจนออกมาเป็นอุจจาระ ใช้เวลา 2-3 วันเลยค่ะ

และยิ่งในผู้สูงอายุ การทำงานของระบบทางเดินอาหารจะมีประสิทธิภาพลดลง ก็ยิ่งใช้เวลานานขึ้นไปอีก บางคนอาจจะใช้เวลานานถึง 7 วันเลย

แต่ในคนที่ชอบรับประทานอาหารพวกกากใย ผัก ผลไม้ พบว่า จะถ่ายอุจจาระ 6-8 ขีด (ปริมาณมากกว่าคนชอบกินเนื้อสัตว์ 3-4 เท่าตัวเลย) และอาหารใช้เวลาในทางเดินอาหาร แค่ 20-30 ชั่วโมง

การที่อาหารค้างอยู่ในลำไส้นานๆนั้นส่งผลเสียมากกว่าผลดีค่ะ
เมื่ออาหารค้างอยู่ในลำไส้นานๆ จะส่งผลให้มีอาการดังต่อไปนี้

  1. เรอเหม็นเปรี้ยว
  2. ท้องอืดแน่นท้อง
  3. มีแก๊ส หรือลมในท้อง
  4. มีอาการท้องผูก บางคนก็มีอาการแปรปรวนของลำไส้ ท้องผูกสลับท้องเสีย
  5. ปวดหัว นอนไม่หลับ
  6. เกิดอาการผื่นคัน

ใครมีอาการตามนี้ ต้องเพิ่มปริมาณผัก และผลไม้ ในมื้ออาหารให้มากขึ้นแล้วนะคะ

กากอาหารจะถูกเก็บกักไว้บริเวณลำไส้ใหญ่ ที่บริเวณนี้จะเกิดการดูดซึมน้ำและเกลือแร่กลับเข้าสู่ร่างกายอยู่ ทำให้อุจจาระยิ่งอยู่นานก็จะยิ่งแข็งและเหนียว ซึ่งก็จะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวเพื่อขับออกยาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองลำไส้ ส่งผลให้เกิดลำไส้อักเสบ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ และนอกจากนี้ยังอาจครูดบริเวณทวารหนัก แล้วทำให้เกิดริดสีดวงได้อีกด้วยค่ะ

อีกหนึ่งตัวช่วยที่จะสามารถปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหารได้ คือ อาหารกลุ่มโพรไบโอติก และพรีไบโอติกส์ค่ะ

ขอเล่าก่อนว่า ในทางเดินอาหารของเราจะมีแบคทีเรียอยู่ 2 ประเภท

  1. แบคทีเรียก่อโรค หรือ ไม่ดีต่อร่างกาย
  2. แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เจ้าพวกแบคทีเรียเหล่านี้ เราเรียกว่า “โพรไบโอติก” ค่ะ

โพรไบโอติก (Probiotic) จะทำหน้าที่ในการปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ควบคุมจำนวนของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ช่วยในการหมักและย่อยใยอาหาร สังเคราะห์วิตามิน ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส, บิฟิโดแบคทีเรีย
ซึ่งหากเพื่อนๆต้องการเพิ่มปริมาณแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกาย ก็สามารถเติมแบคทีเรียเหล่านี้ได้ง่ายๆ ด้วยการรับประทานอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ค่ะ

พรีไบโอติก (Prebiotic) คือ อาหารกลุ่มเส้นใยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของโพรไบโอติกส์ เช่น โอลิโกฟรุกโตส, กาแล็กโทโอลิโกแซ็กคาไรด์ เป็นต้น

เคล็ดลับการดูแลสำไส้ใหญ่

  1. เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อลดการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ของเราจะได้ทำงานง่ายขึ้น
  2. เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เพิ่มเส้นใยในมื้ออาหารด้วยผัก และผลไม้
  3. ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  4. เพิ่มการรับประทาน โยเกิร์ต และนมเปรี้ยว
  5. หมั่นดูแลใส่ใจเรื่องระบบขับถ่าย ฝึกการถ่ายอุจจาระเป็นประจำทุกวัน และคอยสังเกตลักษณะอุจจาระ จะต้องมีสีปกติ ไม่มีเลือดปน ไม่มีลักษณะกะปริดกะปรอย ไม่แข็งเกินไป ไม่จับตัวเป็นก้อนเล็กๆ
  6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่นไหวของลำไส้ได้ ช่วยทำให้ลำไส้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ้างอิง :

  1. Colon Therapy สมดุลเคมีในร่างกายกับการกำจัดของเสีย. Complementary Alternative Medicine.Oct 2004
  2. งานวิจัยเรื่อง Dietary modulation of the human colonic microbiota: Introducing the concept of prebiotics โดย Gibson, Glenn R; Roberfroid, Marcel B. The Journal of Nutrition 125.6 (Jun 1995): 1401-12.
  3. งานวิจัยเรื่อง Probiotics, prebiotics, and synbiotics—approaching a definition โดย Jürgen Schrezenmeir and Michael de Vrese Am J Clin Nutr 2001;73 (suppl) :361S–4S. American Society for Clinical Nutrition

ลำไส้ใหญ่, โพรไบโอติก (Probiotic), พรีไบโอติก (Prebiotic)

เพิ่มเพื่อน
Share this: